Insight marketing Visit : Wisesight
Priceza E-commerce Summit 2020
ที่สุดของงานเสวนา E-Commerce แห่งปีจากกูรูชั้นนำ “ตัวจริง” ของวงการ พร้อมจับกระแสธุรกิจ E-Commerce ที่คุณต้องรู้ในปีหน้า
♦ จับทิศทางตลาด E-Commerce Trend 2020 ก่อนใคร
♦ รวบรวมสุดยอดผู้บริหารและกูรูระดับแนวหน้าของวงการกว่า 10 ท่าน
♦ พบกับข้อมูลตลาด E-Commerce ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ในวันพุธที่ 27 พ.ย. 62 เวลา 09.00-17.30น. ณ โรงแรม S31 (สุขุมวิท 31)
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก!!
ซื้อบัตรด่วน ก่อนตกเทรนด์ ได้ที่!! zipeventapp.com/e/Priceza-E-Commerce-Summit-2020
CMO แมคโดนัลด์ เผยกลยุทธ์ Feel Good Moment ผูกใจลูกค้าทุกกลุ่ม
ประสบการณ์กว่าสามทศวรรษกับ 245 สาขาทั่วราชอาณาจักรไทย ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ‘แมคโดนัลด์’ เป็นแบรนด์หนึ่งที่เข้าอกเข้าใจความต้องการของคนไทยมาโดยตลอด แต่ถึงกระนั้น ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่วิถีชีวิตของทุกคนกำลังถูก disrupt อย่างใหญ่หลวง ทั้งในเทรนด์การบริโภค พฤติกรรมการสั่งและส่งอาหาร การรับสื่อของคนยุคดิจิทัล ฯลฯ ทำให้ฟาสต์ฟู้ดอเมริกันหัวใจไทยอย่างแมคโดนัลด์ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน
วันนี้สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคุยกับ สนธยา ตั้งสันติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดบริษัทแมคไทย (CMO) ถึงแนวทางการบริหารแบรนด์และวิธีคิดใหม่ ๆ ของ ‘แมคโดนัลด์’ ในยุคที่ความหลากหลายคือโจทย์สำคัญที่สุด
คนไทยวันนี้มีตัวเลือกการบริโภคอาหารที่หลากหลายมาก ทั้งอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู แมคโดนัลด์ตอบรับกับความท้าทายนี้อย่างไร
ค่านิยมการรับประทานที่หลากหลายขึ้นทำให้เกิด share of stomach จริงค่ะ เพราะเวลามีแบรนด์ใหม่เข้ามา ใคร ๆ ก็อยากไปลอง แต่แมคโดนัลด์เราโชคดีที่ยังมีฐานลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ชอบทานเบอร์เกอร์ของเราอย่างสม่ำเสมอ ชาบูอาจจะเจาะตลาดวัยรุ่นได้ แต่แมคโดนัลด์เราเจาะทั้งครอบครัว ผูกมิตรกับคนทุกวัย และตั้งใจเข้าถึงความต้องการของคนในทุกเซกเมนต์
“ตอนนี้เทรนด์ co-working space มาแรง เราก็จัดปลั๊กไฟให้คนนั่งมาทำงานกันเลย ถ้าคุณไปที่อื่นอาจจะไม่มีอาหารเป็นเรื่องเป็นราว แต่ที่แมคฯ เรามีทั้งมีล สแน็ค และกาแฟให้คุณครบ”
กลยุทธ์วันนี้คือเราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคแต่ละเซกเมนต์ต้องการอะไรแล้วสนองความต้องการนั้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ เมนูอาหาร ฯลฯ อย่างบางสาขาเราไม่ได้เน้นครอบครัวเพราะอยู่ในอาคารสำนักงาน แต่ถ้าสาขาที่เน้นกลุ่มครอบครัวเราก็จะมีน้อง ‘GEL’ (Guest Experience Leader) คอยอำนวยความสะดวกให้เป็นพิเศษ เพราะกลุ่มครอบครัวจะมีความต้องการเฉพาะเช่น เวลาคุณพ่อคุณแม่ไปสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์ คุณลูกมักจะไม่ชอบต่อคิว แต่จะให้ทิ้งเขาไว้ที่โต๊ะก็คงไม่ได้ แมคโดนัลด์เราจึงเปิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ ให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่านตู้ หรือเลือก Table service ที่อาหารจะมาเสิร์ฟถึงโต๊ะเลย นอกจากนี้ภายในร้านก็จะมีของเล่นไว้เอาใจบรรดาคุณลูก ๆ ด้วย
แปลว่าแต่ละสาขามีสินค้าและบริการไม่เหมือนกัน
ส่วนใหญ่เมนูจะเหมือนกันหมดค่ะ ยกเว้นบางสาขาที่เปิดสายก็จะไม่มีเมนูอาหารเช้า แต่รายละเอียดงานบริการอันนี้จะไม่เหมือนกัน 100% คือทุกครั้งที่เปิดสาขาเราต้องดูกลุ่มเป้าหมาย เช่น สาขาในตึกออฟฟิศ เราจะมีโต๊ะเดี่ยวริมหน้าต่าง หรือสาขาที่นักท่องเที่ยวเยอะ ก็จะมีป้ายภาษาจีน หรือมีพนักงานที่พูดจีนได้ เป็นต้น มาร์เก็ตติ้งต้องลงไปดูว่าลูกค้าในละแวกไหนมีความต้องการพิเศษอะไร เพื่อที่เราจะออกแบบประสบการณ์ที่เหมาะสมให้กับเขาได้ เรื่องนี้หมายรวมถึงการออกแบบร้านด้วย ตอนนี้แมคโดนัลด์เรากำลังพัฒนาดีไซน์ของร้านใหม่ โดยจะให้ความสำคัญกับโจทย์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มครอบครัวเก้าอี้จะนิ่มกว่า อะไรอย่างนี้เป็นต้น
“จุดยืนของแมคโดนัลด์คือการสร้าง Feel Good Moment เป็นโมเมนต์ของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป”
ในท้องตลาดมีเทรนด์อาหารใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ เช่น ก่อนนี้ฮิตชาเขียว ตอนนี้ฮิตไข่เค็ม วิถีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแมคโดนัลด์ช่วงนี้เป็นอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องตามเทรนด์พวกนี้
คำตอบคือเราใส่ใจเทรนด์เสมอค่ะ วิถีการพัฒนาสินค้าของแมคฯ ก็คือการดูเทรนด์อาหารนี่แหละ ฝ่ายวิจัยพัฒนาต้องทำงานควบคู่กับมาร์เก็ตติ้งตลอด เพื่อจะเคาะกันว่าเราจะพัฒนาเมนูอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ซึ่งทุกปีเราต้องมีเมนูใหม่ตลอด
ช่วงหลังแคมเปญโฆษณาของแมคโดนัลด์เหมือนจะแผ่วลงไป แบรนด์ได้เปลี่ยนกลยุทธ์อะไรหรือไม่ อย่างไร
เราเปลี่ยนการใช้สื่อค่ะ ในอดีตเราใช้ทีวีเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราใช้สื่อออนไลน์ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube ฯลฯ เมสเสจที่คน ๆ หนึ่งได้เห็นอาจจะน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่มันเป็นเมสเสจที่คน ๆ นั้นอยากเห็นมากขึ้น มันมีความ personalize เฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ใช้สื่อน้อยลง เราแค่เปลี่ยนกลยุทธ์การใช้สื่อ แต่เดิมการสื่อสารของแมคโดนัลด์ค่อนข้าง traditional แต่ครึ่งปีหลังนี้คุณจะได้เห็นอะไรที่ non-traditional มากขึ้น เราพยายามหาวิธีใหม่ ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้เราเพิ่งทดลองลงโฆษณาในเพจ จส.100 เพราะศึกษามาแล้วว่าก่อนคนจะออกจากออฟฟิศมักจะเช็กเพจ จส.100 กันก่อน ปรากฏว่าใน 3 ชั่วโมงนั้นเราได้ 244 คอมเมนต์ 196 แชร์ 2.7k ไลก์ ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับแมคโดนัลด์ ก็เป็นวิธีการเข้าถึงลูกค้าที่ disruptive มากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขายและรักษาฐานลูกค้าของธุรกิจอาหารคืออะไร
คือการปรับตัวตามผู้บริโภคค่ะเช่น ถ้าดิจิทัลมา เราก็ต้องดิจิทัลตาม ถ้าเทรนด์การใช้ food aggregator (แอพสั่งอาหาร) เป็นที่นิยม เราก็ต้องเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ร่วมมือกับ food aggregator เหล่านี้ การปรับตัวเร็วจะช่วยให้แบรนด์รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ พูดง่าย ๆ ถ้าเราส่งอาหารได้เร็ว ลูกค้าได้รับอาหารเร็ว มันก็วินวินทุกฝ่าย แต่การปรับตัวตามเทรนด์ก็ต้องมีจุดยืนด้วย บางแบรนด์ปรับจนงงไปหมด เราต้องยึดหลัก be true to who you are ด้วย
คุณมองภาพรวมตลาดกาแฟในประเทศไทยอย่างไร และวางตำแหน่งของแมคคาเฟ่ไว้ที่จุดไหน
ดุเดือดมากค่ะ (หัวเราะ) ถ้าจะแบ่งง่าย ๆ ก็มีตลาดแมส ตลาดพรีเมียม ตลาดสตรีทฟู้ด แมคคาเฟ่เราอยู่ระหว่างแมสกับพรีเมียม เราใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกาแท้ที่มาจากระบบ fair trade 100% เครื่องชงเรามีแรงดันเหมาะสมตามมาตรฐานสากล คุณภาพเป็นพรีเมียม แต่ราคาไม่ใช่ เพราะเรารู้สึกว่าแมคโดนัลด์ควรจะเข้าถึงคนทุกกลุ่ม นั่นคือจุดยืนด้านราคาของเรา ส่วนจุดยืนด้านประสบการณ์คือการให้ลูกค้าได้ดื่มกาแฟพรีเมียมในบรรยากาศที่คุ้นเคย สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ไม่ต้องเกร็งเหมือนเวลานั่งร้านกาแฟพรีเมียม อย่างสาขาที่เน้นกลุ่มครอบครัวเราก็จะมีไอศครีมมินิโคนแจกเด็ก ๆ และมีมุมให้เด็กเล่น คุณพ่อคุณแม่สามารถมานั่งดื่มกาแฟแก้วโปรดได้โดยที่ลูกไม่เบื่อ หรือกลุ่มเพื่อนก็นัดกันมาคุยเฮฮาได้เต็มที่
ปัจจัยที่ช่วยรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้าใหม่ของธุรกิจร้านกาแฟในปัจจุบัน
หัวใจอยู่ที่ความเสมอต้นเสมอปลายของสินค้าและบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งวัตถุดิบที่ใช้และบาริสตาด้วย จากการวิจัยเราพบว่าลูกค้าดื่มกาแฟเมนูเดิมทุกวัน เขากลับมาเพราะต้องการความรู้สึกนั้น ทีนี้เราจะทำยังไงให้เขาได้รับความรู้สึกนั้นแบบสม่ำเสมอ อันนี้คือหัวใจ คนอาจจะพูดเรื่องเทรนด์กันเยอะเช่น มีกาแฟใส่ไข่เค็ม (หัวเราะ) แต่สำหรับแมคคาเฟ่เราเชื่อในมาตรฐานความเสมอต้นเสมอปลายที่สุด
ความท้าทายของนักการตลาดในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่ ความท้าทายคือการบาลานซ์ความพึงพอใจของลูกค้าเก่าไปพร้อม ๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตลาดอนาคต การจะรักษาสมดุลที่ว่านี้คือคุณภาพสินค้าและบริการของเราต้องดีเหมือนเดิม แต่เราเพิ่มนวัตกรรม เพิ่มเทคโนโลยี เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ เพื่อดึงคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา อีกเรื่องหนึ่งคือการส่งมอบความคุ้มค่า หมายถึงราคาสินค้าจับต้องได้ในคุณภาพที่เหมาะสม สำหรับแมคคาเฟ่ถือว่ายังอยู่ในช่วงเติบโต ถือเป็นส่วนที่มาเติมเต็มประสบการณ์ของผู้บริโภคมากกว่า
คำแนะนำสำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs ด้านร้านอาหารและร้านกาแฟ
SMEs มีข้อดีที่ปรับตัวง่ายกว่าบริษัทใหญ่ คุณอาจจะเริ่มจากการดูคู่แข่งในละแวกพื้นที่เดียวกัน เช่น ถ้าอยู่ ๆ มีร้านกาแฟมาเปิดติดกัน ร้านคุณก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้ลูกค้าย้ายร้าน ควรจะต้องมีโปรโมชันอะไรไหม ฯลฯ สำหรับ SMEs แนะนำให้ดูในระยะ 1-2 กิโลเมตรรอบตัวว่ามีใครทำอะไรบ้าง ต้องรู้เขารู้เรา มีเรื่องอะไรที่คู่แข่งยังไม่ได้ทำ แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองทำสิ่งนั้นให้เก่ง
“บางคนคิดว่าหาช่องว่างทางธุรกิจเจอแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ถนัดจริงคุณก็ไปไม่รอด จุดเริ่มของ SMEs มาจากแพชชั่น แต่ต้องเป็นแพชชั่นที่แข่งขันได้ด้วย”
ภาพประกอบ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
The post CMO แมคโดนัลด์ เผยกลยุทธ์ Feel Good Moment ผูกใจลูกค้าทุกกลุ่ม appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
ธรินทร์ ธนียวัน ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแชร์แนวคิดดัน GRAB สู่บัลลังก์อาเซียน
ในระยะเวลาแค่รอบปีเศษที่ผ่านมา ‘แกร็บไทย’ (GRAB TH) ภายใต้การนำของแม่ทัพหนุ่มไฟแรง ทิม – ธรินทร์ ธนียวัน อดีตผู้บริหารสายการตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่างลาซาด้า ได้สร้างพลวัติใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาให้คนไทยได้ ‘ยิ้ม’ กันแบบไม่หยุด โมเดลการสร้างธุรกิจ ‘ซูเปอร์แอพ’ ของธรินทร์ ส่งผลให้ทั้งจำนวนลูกค้าและจำนวนผู้ให้บริการของแกร็บในทุกเซ็กเมนท์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล วิ่งแซงคู่แข่งทุกรายที่เคยอยู่ในตลาดนี้มาก่อนแบบไม่เห็นฝุ่น วันนี้นับเป็นความโชคดีที่โครงการ Insight Marketing Visit ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เชิญชวนผู้ที่สนใจมานั่งฟัง ทิม – ธรินทร์ เล่าถึงกลยุทธ์ที่เขาพาแกร็บไทยมาสู่ความสำเร็จในวันนี้แบบเหนือเมฆ รวมถึงความฝันยักษ์ใหญ่ในอนาคตที่ผู้บริหารหนุ่มมั่นอกมั่นใจว่า “ขอเพียงรัฐเปิดไฟเขียวเมื่อไหร่ ผมจะทำให้แกร็บไทยเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียนให้ดู”
GRAB ชื่อนี้ที่คนไทยต้องใช้ในทุกวัน
เราพอจะทราบกันอยูว่าธุรกิจของแกร็บในประเทศไทยเริ่มต้นจากกลุ่มบริการด้านการเดินทางคือ Grab Car และ Grab Taxi และ Grab Bike มาก่อน (หลังจากควบรวมธุรกิจของ UBER ในประเทศไทยมาด้วย) แต่สำหรับธรินทร์แล้ว เขามองว่าการเป็นเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องเดินทางนั้นยังไม่พอ อนาคตของแกร็บจะยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อเขาทำให้ทั้ง Grab Food (สั่งอาหาร), Grab Express (ส่งพัสดุ) Grab Pay (ระบบการชำระเงินออนไลน์) Grab for Business (บริหารจัดการเรื่องเอกสารสำคัญให้ภาคธุรกิจ) รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น Grab Financial (ที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองและพัฒนา) สามารถเติบโตขึ้นอย่างพร้อมเพรียงและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ครบวงจร
“ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้ใช้แอพสิบล้านคนของเรา คุณจะเห็นว่าเซ็กเมนท์ของเราในปัจจุบันแตกย่อยลงไปเยอะมาก เฉพาะในกลุ่มการเดินทางเรามีทั้ง Grab Bike, Grab Car, Grab Car Plus, Grab Premium, Grab SUV, Grab Luxe, Grab Van, Grab Rent เพราะหัวใจของงานบริการที่เจาะตลาดสาธารณะคือเราต้องนำเสนอโปรดักท์ให้ได้ทุกระดับ ทำให้ทุกคนพึงพอใจตามโจทย์ชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน” ธารินทร์ยกตัวอย่างบริการของ Grab Delivery ที่เขาเพิ่งจะยกระดับให้เป็น ‘ออนดีมานด์’ ได้ทั้งหมด โดยจับมือกับพันธมิตรในเครือเซ็นทรัล และท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วเป็นที่เรียบร้อย
“ถ้าลูกค้าเลือกสั่งของจากท็อปส์ผ่านเรา เรารับประกันว่าออร์เดอร์จะถึงมือคุณภายในไม่เกินชั่วโมงครึ่ง นี่ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งเราและคู่ค้าไปพร้อมกัน”
จากบริการย่อยๆ สู่อีโค่ซิสเต็มเต็มระบบ
ด้วยวิชั่นที่ต้องการแก้ปัญหาการเดินทางของผู้คนจากจุด A ไปจุด B ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และสบายใจเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจกลุ่มแรกคือ Grab Transport จึงค่อยๆ เติบโตขึ้นบนโมเดลที่ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการรู้สึก ‘วิน – วิน’ ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง (ที่มีคนใช้เป็นหลักแสนต่อวัน) ธรินทร์ก็เริ่มเล็งเห็นว่าทัชพอยท์ที่แกร็บมีกับคนไทยนั้นสามารถจะต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ได้อีกมาก เขายกตัวอย่าง Customer Journey ในฝันว่า “คุณตื่นมาเตรียมตัวไปทำงาน คุณเรียก Grab Car มารับไปประชุมข้างนอก ประชุมเสร็จเรียกก็ Grab Express ไปส่งเอกสารให้ลูกค้า มื้อกลางวันคุณใช้ Grab Food สั่งอาหารซะหน่อย ช่วงบ่ายก็ให้ Grab Express วิ่งไปรับเอกสารกลับจากลูกค้าอีก แป๊บๆ ถึงตอนเย็นคุณก็ต้องกินข้าวละ ถ้าไม่มีนัดที่ไหนคุณก็สั่ง Grab Food มากินที่บ้าน ทีนี้พอเสาร์อาทิตย์คุณออกไปเดินห้างพักผ่อน คุณก็เอาพอยท์ที่สะสมมาตลอดทั้งวีคนี้ไปแลกซื้อของนู่นนี่ได้ด้วย” ธารินทร์ค่อยๆ เล่าให้ทุกคนเห็นภาพว่าเขาฝันจะสร้างแกร็บให้เป็นอีโค่ซิสเต็มขึ้นมาอย่างไร และการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้ได้อย่างไรบ้าง
“ธุรกิจสมัยนี้ต้องอาศัยพันธมิตรครับ ธุรกิจเล็กจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้ไม่ยากเลยเพราะโลกเราเปลี่ยนเร็วมาก ธุรกิจใหญ่เขารู้ตัวว่าเขาวิ่งตามไม่ทันถึงแม้บุคลากรเขาจะเก่ง แต่ก็เป็นคนเก่งอีกแบบที่ไม่ได้มีชุดทักษะเหมือนคนเจนใหม่ ซึ่งองค์กรอย่างเรานี่แหละที่จะไปช่วยเติมเต็มและสร้างผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ได้”
ธารินทร์เล่าต่อว่า Grab Financial คืออีกหนึ่งกลุ่มบริการที่เขาเชื่อว่าจะมีอนาคตที่สดใสมาก “ทุกวันนี้ผู้บริโภคทั่วไปยังไม่ได้สัมผัสชัดเจน แต่กับพี่ๆ คนขับของเรา เราปล่อยกู้ไปให้เยอะมากๆ แล้ว เชื่อผมไหมทุกวันนี้แกร็บเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของซัมซุงประเทศไทยนะ แค่ภายในห้าเดือนผมซื้อสินค้าจากซัมซุงให้พี่คนขับเขาผ่อนกันมากกว่าสมัยที่อยู่ลาซาด้าซะอีก” นี่คืออีกหนึ่งบริบทที่ตอกย้ำว่าแม่ทัพหนุ่มคนนี้กำลังสร้างอีโค่ซิสเต็มทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นใน ‘ครอบครัวแกร็บ’ แบบจริงจัง นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปให้ครอบคลุมต่างจังหวัดมากขึ้นในปี 2019 ข 2020 จากปัจจุบันที่แอคทีฟอยู่แล้วในกว่า 16 จังหวัด
“นอกจากบริการในกลุ่มยานพาหนะแล้ว Grab Food ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ ของเรา” ธารินทร์กล่าว “เรากระโดดขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจฟู้ดได้ตั้งแต่ไตรมาสสามของปีที่แล้ว เฉพาะจากการให้บริการในกรุงเทพ และตามหัวเมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวเช่นหาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช และพัทยา ส่วนในปี 2019 นี้รายได้ไตรมาสแรกของ Grab Food ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเท่ากับยอดทั้งปีของปี 2018 ไปแล้วเรียบร้อย”
กลยุทธ์ดันแกร็บให้เป็น Everyday App for Everyone
ธารินทร์แชร์แนวคิดในมุมมองแบบมาร์เก็ตติ้งว่า เมื่อเป้าหมายของแบรนด์คือการเป็น Everyday App for Everyone ดังนั้นแบรนด์จะต้องเปลี่ยนภาพการรับรู้ในใจของผู้บริโภคให้ได้ก่อน “จากอดีตที่ผู้คนจำเราเป็นรถแท็กซี่ตลอดเวลา เราจะทำยังไงให้คนเขาเข้าใจภาพเราใหม่ ผมมองว่าการทำ CRM ร่วมกับพันธมิตรนี่แหละที่จะช่วยได้ นั่นคือที่มาของการผลักดัน Grab Food ให้โตเร็วและโตแรงที่สุด เพราะถ้าเราทำได้ภาพลักษณ์ของเราจะเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติ” และก็เป็นอย่างที่ชายหนุ่มว่า Grab Food คือบริการที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้แบบพลิกฝ่ามือในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน
“ทุกวันนี้มีคนใช้แอพเราประมาณหนึ่งล้านห้าแสนคนต่อวันครับ โดยเฉพาะ Grab Food ที่โตแบบก้าวกระโดดเลย ปี 2018 เราส่งอาหารได้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านออร์เดอร์ แต่ปีนี้แค่เฉพาะไตรมาสแรก เราทำไป 4 ล้านออร์เดอร์แล้ว ผมกะว่าจะปิดปีที่ 20 ล้านออร์เดอร์นะ แต่แค่นี้ผมก็ทำให้คนไทยเลิกคิดว่า Grab เท่ากับรถแท็กซี่ได้แล้วล่ะ”
นอกจากนี้ตลอดปีที่ผ่านมา ธารินทร์ยังพาแบรนด์แกร็บไปทำงานกับอีกหลายๆ กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ BNK48 ให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ การจัดวิ่งมาราธอน จัดปาร์ตี้ EDM หรือกระทั่งจับมือกับ เนวิน ชิดชอบ (พรรคภูมิใจไทย) และธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำกิจกรรมพิเศษร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดบริการพิเศษ Grab Transport เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวระหว่างการแข่งขัน Moto GP ที่บุรีรัมย์ เป็นต้น
“กิจกรรมที่เราทำทั้งหมดในปี 2018 มีจุดประสงค์ร่วมข้อหนึ่งที่เหมือนกันคือเราต้องการรีแบรนด์แกร็บในใจผู้บริโภคให้สำเร็จให้ได้”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของแกร็บในวันนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ ทิม – ธรินทร์ ธนียวัน ผู้ซึ่งทำให้คนกรุงเทพกว่าหนึ่งในสามกลายเป็น active user ของแกร็บได้สำเร็จ ซึ่งหากถามเขาว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจของแกร็บในอนาคต คำตอบของเขาคือการพัฒนาธุรกิจที่ไม่เข่นฆ่าใคร แต่เน้นการทำระบบที่เป็น partnership-centric เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร สร้างคู่ค้า และสร้างตลาดใหม่ๆ ร่วมกันกับธุรกิจอื่น และที่สำคัญที่สุดคือการ ‘สร้างอาชีพ’ และ ‘สร้างประโยชน์’ ให้กับสังคมไทยในวงกว้างได้
ภาพประกอบ: MAT Team
The post ธรินทร์ ธนียวัน ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแชร์แนวคิดดัน GRAB สู่บัลลังก์อาเซียน appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
“หนาแค่ไหนก็ 15 นาทีจบ” BLINKIST สตาร์ทอัพหัวใสสรุปไฮไลท์จากหนังสือทั่วโลก
เมื่อวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทำให้วิถีการบริโภคสินค้าและบริการของมนุษย์เปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ ‘ความสะดวก’ และ ‘รวดเร็ว’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเรียกดาว 5 ดวงจากผู้บริโภคได้ เห็นชัดจากการเติบโตของแอพจส่งอาหารต่างๆ เช่น Grab Food, Line Man, Get Food ฯลฯ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ทุกคนให้คุณค่า และนักพัฒนาบริการก็ต้องหันมาตีโจทย์ข้อนี้ให้ได้ในทุกอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือไอเดียการ ‘แฮควิธีอ่านหนังสือ’ ของสตาร์ทอัพนาม Blinkist ผู้พัฒนาแอพลิเคชันสำหรับนักอ่านที่มีเวลาน้อย โดยจะย่อยประเด็นสำคัญจากหนังสือ nonfiction ต่างๆ มาให้คุณเข้าใจได้ในเวลาไม่เกิน 15 นาที
ปฎิวัติการอ่านผ่านแอพ BLINKIST
สวัสดีนักอ่านทุกท่าน…ทุกวันนี้คุณรู้สึกเหมือนกันกับเราไหมว่าหนังสือตั้งใหญ่ที่เราถอยมาจากงานสัปดาห์หนังสือทุกๆ ปีนั้นถูกอ่านจบจริงแค่ไม่ถึง 5 เล่มต่อปี ยิ่งเป็นหนังสือประเภท nonfiction ที่มุ่งเน้นการให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านด้วยแล้ว สปีดการอ่านของเราก็ยิ่งเชื่องช้าลงเรื่อยๆ ตามความหนาของเล่ม
Pain point ข้อนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทุกมุมโลก สตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมันาม Blinkist จึงทดลองนำเสนอวิธีการใหม่ในการ ‘เสพสาระ’ จากหนังสือให้เหลือแค่เพียง 15 นาที (ไม่ว่าจะด้วยการอ่านหรือการฟัง) โดยการสรุปความจากหนังสือทุกเล่มนั้นได้ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยมันสมองของนักเขียนและบรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และรับประกันว่าไม่มีการใช้สมองกลเข้าช่วยในการย่นย่อเนื้อหาสาระแม้แต่น้อย
“ปัจจุบันมนุษย์เท่านั้นที่มีศักยภาพพอในการทำให้มนุษย์ด้วยกันเข้าใจเรื่องราวหนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจนและจดจำเรื่องราวนั้นได้ยาวนาน”
หลังเปิดตัวในปี 2012 Blinkist มีหนังสือให้เราเลือกเสพกันแล้วกว่า 3,000 เล่ม ครอบคลุมหัวข้อด้านการพัฒนาบุคคล จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ การสื่อสาร การบริหารจัดการ ความเป็นผู้นำ การสร้างแรงจูงใจ การค้นหาแรงบันดาลใจ ฯลฯ โดยในทุกเดือน Blinkist จะมีหนังสือออกใหม่มาให้สมาชิกได้เลือกอ่านเลือกฟังกันราว 40 เล่ม และจากเดิมที่มีแต่หนังสือภาษาเยอรมัน ปัจจุบันก็เติบโตสู่ตัวเลือกหลายภาษา (ภาษาอังกฤษเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด) ด้วยตัวเลขสมาชิกที่วิ่งฉิวขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุหลัก 10 ล้านคนทั่วโลกไปแล้ว
ฝ่าวิกฤติด้วยการระดมทุนแบบ Venture Capital
แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าแม้แนวคิดธุรกิจของสตาร์ทอัพรายนี้จะดีแสนดี แต่พวกเขาก็เกือบจะเอาตัวไม่รอดจากภาวะล้มละลายมาแล้ว (เพราะขาดเงินทุนในการทำวิจัยพัฒนา ขยายสเกลธุรกิจ และทำการตลาดอย่างจริงจัง) โชคยังดีว่าโลกของเรามีแพลทฟอร์มการลงทุนที่เรียกว่า Venture Capital เกิดขึ้น และนักลงุทนอิสระกลุ่มนี้เองที่ได้ช่วยให้ Blinkist ผู้ล้มลุกคลุกคลานมากว่า 2 ปีสามารถลืมตาอ้าปากได้ในที่สุด
“การระดมทุนจาก Venture Capitalist ทั่วโลก คือเครื่องปั๊มหัวใจในนาทีสุดท้ายที่เรียกสัญญาณชีพของธุรกิจกลับมาอีกครั้ง”
ในปี 2016 บริษัทมีรายได้เพิ่มจากปี 2015 สูงขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมทีมงานที่เติบโตขึ้นอีก 200% สำหรับกรณีศึกษานี้นาย Harley Miller รองประธานบริษัท Insight Venture Partners กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า Blinkist คือหนึ่งสตาร์ทอัพที่ยอดเยี่ยมของโลก เป็นคลังความรู้สำเร็จรูปที่ช่วยให้เราเพิ่มทักษะการพัฒนาตนเองได้จริง”
ปัจจุบัน Blinkist สามารถระดมทุนผ่าน Capital Venture ได้แล้วถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี Insight Venture Partners (ผู้อยู่เบื้องหลังการระดมทุนให้ Twitter, Tumblr และ HelloFresh) เป็นที่ปรึกษาให้
การไฮไลท์เนื้อหาไม่มีวันฆ่าหนังสือเล่มจริง
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของ Blinkist คือกลุ่มคนทำงานที่มีตารางชีวิตมากมายระหว่างวัน เป็นกลุ่มคนที่ต้องการ ‘ประสิทธิภาพ’ และ ‘ประสิทธิผล’ สูงสุดจากการใช้ชีวิตประจำวันของตน ดังนั้นหนังสือที่ขายดีเป็นพิเศษกับคนกลุ่มนี้ จึงมักเกี่ยวของกับกลไกการทำงานของสมอง ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง Thinking, Fast and Slow ที่รวบรวมผลงานวิจัยตลอด 40 ปีของ Daniel Kahneman, หนังสือเรื่อง Outliers โดย Malcolm Gladwell ที่สรุปปัจจัยการทำธุรกิจให้สำเร็จผ่านเรื่องราวที่คุณไม่มีทางเคยรู้ หรือเรื่อง A Brief History of Time ของ Stephen Hawking ที่ชวนให้คุณค้นหาคำตอบต่อความพิศวงของเวลาและอวกาศ เป็นต้น นอกจากนี้ Blinkist ยังจัดทำอันดับหนังสือแนะนำขึ้นตามหมวดหมู่เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวที่กำลังต้องการได้อย่างสะดวกด้วย
ที่ผ่านมาแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบบ้าง เช่นว่าการย่อเนื้อหาทำให้อรรถรสการอ่านหายไป หรือเนื้อหาสำคัญตกหล่นไม่ครบถ้วน แต่ทีมงาน Blinkist ก็กล่าวว่า หน้าที่ของพวกเขานั้นไม่ใช่การเข้ามาแทนหนังสือฉบับเต็ม แต่เป็นแค่เพียงหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้รักการอ่าน (แต่ไม่มีเวลา) สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระของหนังสือดีๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วเท่านั้น
หรือหากเราจะมองเขาในแง่บวกขึ้นอีกนิด Blinkist อาจเป็นเครื่องมือการตลาดชั้นเลิศของสำนักพิมพ์ต่างๆ ในการกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มแต่ละเล่มตัดสินใจถอยหนังสือเล่มเต็มมาอ่านอย่างละเอียดก็เป็นได้
อ้างอิง: blinkist, medium, pehub
The post “หนาแค่ไหนก็ 15 นาทีจบ” BLINKIST สตาร์ทอัพหัวใสสรุปไฮไลท์จากหนังสือทั่วโลก appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
พอแล้วดี…จริงไหม? เรียนรู้แนวทางสร้างธุรกิจให้สำเร็จอย่างพอดีและมีความสุข
เมื่อได้ยินคำว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หลายคนมักนึกไปถึงภาพการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือวิถีชีวิตแบบพออยู่พอกิน หรือการความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองแลกซื้อ ฯลฯ แต่การเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator 4 ทำให้เราได้เรียนรู้หลายมุมมองใหม่ๆ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด และทำให้ธุรกิจ ‘เติบโตได้’ อย่างยั่งยืนแท้จริง
3 ห่วง 2 เงื่อนไข สู่การสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างพอดี
เมื่อคิดจะลงทุนทำธุรกิจสักอย่าง หลายคนเริ่มต้นจากโจทย์ข้อแรกว่า “ฉันอยากจะทำอะไร” ซึ่งนั่นก็ถูกต้องแล้ว เพราะแพชชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาได้ แต่โจทย์ข้อต่อๆ มาที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้แตกฉาน และบันทึกไว้เป็นคัมภีร์ในการทำธุรกิจอย่างพอดี นั่นก็คือโจทย์ของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อันประกอบไปด้วย
ห่วงที่ 1: รู้จักตน – ประมาณตน ข้อนี้หมายถึงการรับรู้และเข้าใจในจุดยืนของตนเอง เช่นรู้ว่าเรามีทรัพยากรอะไรในมือบ้าง อะไรที่เราดี อะไรที่เราขาด รวมถึงไม่คิดลงทุนเกินกำลังหรือเกินทุนทรัพย์ที่ตนเองมี ไม่ว่าจะเป็นทุนทางกายภาพ ทุนทางมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งการรู้เท่าทันตนเองในห่วงแรกนี้จะนำธุรกิจของเราไปสู่การเลือกใช้และบริหารทรัพยากรที่เรามีอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเรา (SWOT Analysis) ภายใต้บริบทการแข่งขันและตลาดที่เป็นจริงอย่างเหมาะสม
ห่วงที่ 2: มีเหตุ – มีผล หมายถึงการรู้จักวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ ทำความเข้าใจตลาด เข้าใจคู่แข่ง เพื่อวางเป้าหมายและแนวการดำเนินงานอย่างมีเหตุผล (Strategic Management) สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากธุรกิจได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นว่าธุรกิจของเราจะมีผลกระทบต่อใคร ต่ออะไร ในมิติไหน และอย่างไรบ้าง เป็นต้น
ห่วงที่ 3: สร้างภูมิคุ้มกัน ข้อนี้หมายถึงการเตรียมพร้อมต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ไม่บรรลุผล เช่น ในกรณีที่ธุรกิจต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด (Risk Management) การสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้านี้จึงเปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนที่จะพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้
เงื่อนไขที่ 1: มีความรู้ เงื่อนไขข้อแรกในการทำธุรกิจให้สำเร็จอย่างพอดีคือการที่เรามีความรอบรู้ต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่นรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด เข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง รวมถึงรู้ว่าตนยังขาดความรู้ความชำนาญในด้านใด (เพื่อที่จะได้หาทางเติมเต็มในส่วนนั้น) ทั้งนี้เพราะความเท่าทันในธุรกิจทุกด้านย่อมทำให้เราตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด
เงื่อนไขที่ 2: มีคุณธรรม เงื่อนไขข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเราต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณ และมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ หมายถึงการที่เราไม่คิดเอาแต่ได้หรือคิดหาประโยชน์ให้พวกพ้องเพียงกลุ่มเดียว ในทางตรงกันข้าม เราต้องคิดถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่ธุรกิจของเราอาจมีต่อผู้อื่น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ในยุคที่ 3Ps คือหัวใจของธุรกิจที่สมดุลและยั่งยืน
ในอดีตนั้นเราล้วนเคยร่ำเรียนกันมาว่า 4Ps คือหลักการตลาดที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ แต่ในโลกทุกวันนี้การที่ธุรกิจหนึ่งๆ จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น การบริหาร 4Ps ได้อย่างชาญฉลาดอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่ได้หันมาให้ความสำคัญกับอีก 3Ps ที่เขามองว่าเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจที่น่าสนับสนุน นั่นก็คือ
1) PROFIT สร้างกำไรให้พอดี แน่นอนว่าการทำธุรกิจนั้นย่อมต้องมุ่งหวังผลกำไรเป็นเป้าหมาย ซึ่งกำไรดังกล่าวอาจได้มาจากการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี มีความแตกต่างที่ตรงใจผู้บริโภค หรือมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการขายที่แข็งแรงเหนือชั้น ฯลฯ ในบริบทของการทำธุรกิจแบบพอแล้วดีก็เช่นกัน เราต้องระลึกไว้เสมอว่าการหากำไรอย่างพอดีคืออะไร ไม่ใช่ทำธุรกิจที่ดีต่อสังคม ดีต่อชุมชน ดีต่อใจ แต่ไม่มีกำไรทางเศรษฐกิจเลย
2) PEOPLE ใส่ใจผู้คนที่เกี่ยวข้อง นอกจากกำไรที่เป็นมูลค่าทางธุรกิจแล้ว กำไรที่เป็นคุณค่าต่อผู้คนและสังคมคืออีกสิ่งที่ธุรกิจในปัจจุบันต้องคำนึงถึง การที่แบรนด์ใดจะก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในใจของผู้คนได้ แบรนด์นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งลูกค้า คู่ค้า ลูกจ้าง รวมไปถึงคนทุกคนที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำธุรกิจของแบรนด์ดังกล่าว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘การชนะใจคน’ ไม่เพียงแต่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่าย พันธมิตร พนักงาน ผู้คนในชุมชน รวมไปถึงผู้ใช้สินค้าและบริการด้วย
3) PLANET ดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันทางเลือกการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวใจที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญและวางแผนล่วงหน้าอย่างครบวงจร นับตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การขนส่ง การทำการตลาด การตกแต่งร้าน การทำแพคเกจจิ้ง เพราะผู้บริโภคสมัยนี้เขาสนใจว่าในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ๆ หนึ่งมันสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง เช่น การผลิตและขนส่งก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างไร เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เสร็จแล้วเขาจะสร้างขยะให้โลกแค่ไหน ฯลฯ
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการสร้างแบรนด์ยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน คุณจำเป็นต้องบริหารทั้ง 4Ps และ 3Ps ให้ได้อย่างมีเอกภาพ โดยต้องระลึกไว้ด้วยว่า “พอ” ไม่ได้แปลว่า “หยุด” แต่หมายถึงการ “คิด” และ “ทำ” อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายสังคม และช่วยดูแลโลกใบเดียวที่เรามีอยู่นี้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้
“ถ้าคุณทำธุรกิจที่ดีแต่กับผู้อื่น แต่คุณเองขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดคุณจะกลายเป็นภาระสังคม ฉะนั้นจำไว้ว่าการทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่กำไรอย่างพอประมาณ”
– ดร. ศิริกุล เลากัยกุล / Director & Trainer โครงการพอแล้วดี The Creator
ภาพประกอบ: โครงการพอแล้วดี The Creator
The post พอแล้วดี…จริงไหม? เรียนรู้แนวทางสร้างธุรกิจให้สำเร็จอย่างพอดีและมีความสุข appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
MAT พาสมาชิกเยี่ยมชม บริษัท WISESIGHT ผู้นำด้านโซเชียลในเอเชียแปซิฟิก
MAT พาสมาชิกฯ เยือนบ้าน “‘WISESIGHT’ ผู้นำด้านโซเชียลในเอเชียแปซิฟิก”
วันนี้เป็นโอกาสดี ที่ ‘ไวซ์ไซท์’ ได้ทำการเปิดบ้าน บนชั้น 33 อาคาร Sun tower ต้อนรับสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยและสมาชิก ได้เข้าเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งอัปเดตความรู้ โดยมีผู้บริหารให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง
นำทัพโดย คุณพเนิน อัศววิภาส COO ,Wisesight Thailand ที่มาบอกเล่าความเป็นมาของ และ การทำงานของ บริษัท wisesight ต่อด้วย คุณกล้า ตั้งสุวรรณ CEO ,Wisesight Thailand ที่มาให้ความรู้ ในหัวข้อเรื่อง Social data analytic in Action ว่า Social Data นั้นมีผลต่อการ Run Business อย่างไร พร้อมยกเคสให้เห็นภาพว่านำมาใช้งานกับแบรนด์หรือธุรกิจของเราได้อย่างไร
การรับฟังบรรยายครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าแต่ละแบรนด์หันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องราวที่แบรนด์ต้องการจะนำเสนอ และหากเรามีข้อมูลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแม่นยำ เพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจต่อไปในอนาคต ขอขอบคุณทีม Wisesight Thailand ที่เปิดบ้านต้อนรับ สมาชิก MAT อย่างอบอุ่นค่ะ
The post MAT พาสมาชิกเยี่ยมชม บริษัท WISESIGHT ผู้นำด้านโซเชียลในเอเชียแปซิฟิก appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
Decoding the Digital Customer Journey
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริโภคยุคดิจิทัล มีขบวนการคิดและ
ตัดสินใจซื้อสินค้าที่รวดเร็วขึ้นมาก จนมีคำกล่าว่า ‘Milliseconds earn millions’ – ความต่างกันในระดับเสี้ยววินาที มีผลต่อยอดขายระดับล้าน
และด้วยความซับซ้อนและรวดเร็วนี้เอง ที่ทำให้นักการตลาดต้องกลับมาทบทวน ทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์และพฤติกรรม โดยเฉพาะ Customer Journey ของลูกค้าตัวเองใหม่
Customer Journey หรือเส้นทางการเดินทางของผู้บริโภคตั้งแต่ก่อนเป็นลูกค้า จนกลายเป็นลูกค้าในสมัยก่อนไม่ซับซ้อน เพราะแทบจะเป็นเส้นตรงที่คาดเดาได้ เนื่องจากช่องทางการสื่อสารยังไม่ซับซ้อน ไม่มี Social Media เหมือนสมัยนี้ การสื่อสารของแบรนด์ก็แทบจะเป็นเส้นตรงที่แบรนด์เป็นผู้บริหารข้อความ ตั้งแต่โฆษณา จนถึงช่องทางการปิดการขาย แต่ในยุคสมัยนี้ การตัดสินใจของผู้บริโภค อาจจะไม่ได้เริ่มจากการรับรู้ลักษณะของสินค้าหรือบริการจากโฆษณาของเจ้าของแบรนด์ แต่อาจจะรู้จักสินค้าของแบรนด์ จากคำสนทนาหรือรีวิวใน Social Media แล้วก็ตัดสินใจซื้อเลย
แล้วนักการตลาดจะสามารถ ‘ถอดรหัส’ เส้นทางการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้อย่างไร เพราะเราต่างรู้ว่าการเข้าใจเส้นทางนี้ ย่อมช่วยให้การวางกลยุทธ์ของแบรนด์ให้อยู่ใน Short List จนถึงเป็น Final List มีประสิทธิภาพขึ้น หนึ่งในเครื่องมือที่นักการตลาดยุคดิจิตัลนำมาประยุกต์ใช้คือ การนำหลักการตลาด 5A ของปรมาจารย์ทางการตลาด – Phillip Kotler มาใช้ร่วมกับ การถอดรหัส Customer Needs State และ Customer Journey
หลักการตลาด 5A คืออะไร
5A คือแนวคิดของคุณ Phillip Kotler เกี่ยวกับการทำการตลาดตามขั้นตอนการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ตั้งแต่การสร้างรับรู้ถึงสินค้า ยี่ห้อ สร้างความน่าสนใจของสินค้า กระตุ้นขบวนการตัดสินใจซื้อ จนถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีที่ลูกค้าพึงพอใจและบอกต่อ
Aware คือ การสร้างการรับรู้
Appeal คือ การทำให้ลูกค้าสนใจ
Ask คือ การตอบคำถามลูกค้าที่สนใจ กระตุ้นขบวนการตัดสินใจซื้อเพื่อปิดการขาย
Act คือ การทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ ไม่ใช่เพราะเพียงสินค้าและบริการน่าสนใจ แต่การซื้อขายเป็นไปได้โดยง่าย
Advocate คือ การทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีผ่านทั้งสินค้าและบริการของแบรนด์ จนต้องบอกต่อ
เมื่อเรานำทั้ง 5A เป็นตัวตั้ง และทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าของเราผ่านขบวนการ Customer Immersion ซึ่งคือการคิดและทำแบบผู้บริโภค ไม่ใช่คิดแบบนักการตลาด
เราก็จะได้สามารถวางแผนการตลาดในแต่ละ A ได้และวัดผลได้ด้วย
Awareness
ขั้นตอนนี้แบรนด์ต้องเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะรู้จักสินค้าหรือบริการเราได้จากที่ไหนบ้าง สื่อไหนบ้าง เช่น ทีวี สื่อโซเชียล สื่อบนรถไฟฟ้า และเมื่อจุดประสงค์หลักของขั้นตอนนี้เน้นการนำเสนอสินค้าและบริการในภาพใหญ่ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป ตัวชี้วัดจะไม่ใช่ยอดขาย แต่จะเน้นที่จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาหรือข้อความของแบรนด์ ถ้าเป็นการวัดผลในงานวิจัยก็จะดู % ของผู้เอ่ยถึงแบรนด์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Top-of-mind หรือแบรนด์ที่ผู้บริโภคเอ่ยถึงเป็นยี่ห้อแรก
Appeal
ขั้นตอนนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะทำการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลที่มีในรายละเอียดมากขึ้น ตัวชี้วัดในการวิจัยในขั้นตอนนี้จะดู % ของ Brand in Consideration Set ว่าแบรนด์ของเราสามารถอยู่ใน Short list ของผู้บริโภคได้หรือไม่ ด้วยคุณลักษณะหรือคุณสมบัติใดที่ทำให้ลูกค้าสนใจแบรนด์เรามากกว่ายี่ห้ออื่น
Ask
ขั้นตอนนี้ต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายจะสอบถามเพิ่มเติมเรื่องสินค้าและบริการเราอย่างไร ที่ช่องทางไหนได้ การวัดผลในช่วงนี้คือบทสนทนา ไม่ใช่แค่จำนวนคลิกหรือเข้าชม
Act
ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมากๆ เพราะเป็นขั้นตอนที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกจะซื้อสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งแล้ว การชำระเงิน การจัดส่งสินค้าจนถึงการบริการหลังการขายต้องเป็นเรื่องง่ายและสะดวกต่อลูกค้ามากที่สุด ‘ความยืดหยุ่นและทางเลือก’ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมายในยุค ‘Lazy & Convenient Economy’
Advocate
เมื่อลูกค้าประทับใจในสินค้าหรือบริการของแบรนด์ นอกจากจะซื้อซ้ำแล้ว ลูกค้าจะช่วยแบรนด์ขายของด้วย โดยการช่วยประชาสัมพันธ์สิ่งดีงามที่เขาประทับใจ ในขั้นตอนนี้แบรนด์ต้องรักษากลุ่มลูกค้านี้ให้ดี โดยการนำเสนอสิทธิพิเศษ หรือการสื่อสารที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเป็นบุคคลพิเศษเสมือนเป็น Presenter ของแบรนด์
เมื่อนักการตลาดสามารถทำความเข้าใจพฤติกรรมและ Potential Touch Points ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ก็จะสามารถวางกิจกรรมทางการตลาด ในช่องทางต่างๆ ของแต่ละขั้นตอนในการตลาด 5A ได้
สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดต้องพึงรำลึกในการใช้ 5A ในการวางแผนกิจกรรมทางการตลาดคือ ผู้บริโภคในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางจาก A ที่ 1 ผ่าน A ที่ 2 ตามลำดับไปจนถึง A ที่ 4 และ 5 เพราะผู้บริโภคอาจมีทุก A อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้เลย เช่น เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง เห็นคนต่อแถวร้านชานมไข่มุกยี่ห้อดังจากต่างประเทศ เลยสนใจซื้อมาลองชิมบ้าง เมื่อรสชาติเป็นที่ถูกใจ และเพื่อบอกต่อให้โลกรู้ว่าตัวเองได้ลิ้มรสชานมไข่มุกยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ก็โพสต์ภาพตัวเองถือแก้วชานมไข่มุกลง IG จากกรณีตัวอย่างนี้จะเห็นว่า Customer Journey ของวัยรุ่นรายนี้เกิดขึ้นทั้ง 5 ขั้นตอนในช่วงเวลาที่สั้นมาก การตัดสินใจในแต่ละขั้นตอนเป็น Milliseconds เลยว่าได้
ในยุคดิจิตัลที่ปลาเร็วกินปลาช้า การตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นระดับ Milliseconds นักการตลาดต้องหมั่นทบทวนและทำ Customer Immersion บ่อยๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีตัวเลือกมากขึ้นแต่มีความอดทนรอคอยน้อยลง การทบทวน Conventional Touch Points to Crossover Touch Points เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้ง Mindset ต่างๆ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองด้วย
Source of Image:
The post Decoding the Digital Customer Journey appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
อังคณา ลิขิตจรรยากุล เล่าถึงปรัชญา “ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต”ตั้งเป้าดันแบรนด์พฤกษาเป็นที่รักของลูกบ้านทุกโครงการ
พฤกษา เรียลเอสเตส ชื่อนี้การันตีความเป็นผู้นำในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยมายาวนาน ด้วยการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม รองรับทุกความต้องการของชีวิต ทั้งยังไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วย ‘จัดการชีวิต’ ให้ดีขึ้นอีกหลายระดับ เป็นอีกครั้งที่สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยมีโอกาสพูดคุยกับ อังคณา ลิขิตจรรยากุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดองค์กร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้เธอได้เผยแนวคิดการทำงานเบื้องหลังแคมเปญสำคัญ “พฤกษาใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต”
ความหมายของ ‘สื่อสารให้เข้าใจ…ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต’
แคมเปญนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ (ผู้ก่อตั้งบริษัทพฤกษา) ที่เรานำมาตีโจทย์เป็นพันธกิจของแบรนด์อีกทีค่ะ คุณทองมาเคยกล่าวว่าอยากเห็นคนไทยมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดี เราจึงนำคำกล่าวนั้นมาขยายความต่อให้เป็นเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิต ดังนั้นแท็กไลน์ของแบรนด์ที่ว่า “พฤกษาใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต” จึงครอบคลุมทุกบทบาทของสินค้าและบริการที่เรามุ่งมั่นจะทำให้ลูกบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะในความคิดของหลายคนการซื้อบ้านก็คือการลงทุนทั้งชีวิตนะ ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดูแล ซึ่งสำหรับพฤกษาแล้ว การใส่ใจไม่ใช่แค่ story telling แต่เป็น story doing คือพูดแล้วต้องทำจริงให้ได้ เพราะโลกการตลาดทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนมาก แบรนด์ที่ลูกค้าเชื่อถือต้องมีความเป็นของจริง เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์เปิดช่องให้เราทุกคนสืบหาความจริงได้ไม่ยาก ดังนั้นถ้าแบรนด์พูดแล้วไม่ทำ มันก็ไม่มีประโยชน์ แถมอาจจะมีโทษด้วยซ้ำ
‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ในความหมายของพฤกษา
คำว่าคุณภาพชีวิตนี้มันขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละกลุ่มเป้าหมายซึ่งไม่เหมือนกัน บางคนซื้อบ้านเพราะเป็นความต้องการพื้นฐาน บางคนซื้อเพราะเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้นในระยะยาวมันอาจไม่ได้มีคำตอบตายตัว แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคุณภาพชีวิตคือเรื่องของความสุข และนั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่ลูกบ้านของเราจะรู้สึกสบายใจได้
ปัจจุบันพฤกษามี 5 แกนหลักที่ทุกคนรู้กันว่าต้องให้ใส่ใจ หนึ่งคือ เทคโนโลยีการก่อสร้าง เราเป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมมาตรฐานคุณภาพและความสม่ำเสมอ สองคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จะต้องตอบรับกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุด สามคือ นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต สิ่งนี้คือกุญแจที่จะช่วยให้ชีวิตประจำวันของลูกบ้านสะดวกสบายมากขึ้น สี่คือ คอมมูนิตี้ หมายรวมถึงภาพรวมภายในชุมชนของทุกโครงการ ที่ต้องให้ทั้งความรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น สะดวกสบาย และห้าคือ งานบริการ ซึ่งเราจำเป็นต้องให้ใส่ใจในทุกทัชพอยท์ ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนการซื้อไปจนถึงหลังการขายค่ะ
“สิ่งที่เราพยายามทำคือการเข้าใจ customer journey ให้ได้อย่างละเอียดเพื่อจะนำแบรนด์ของเราไปอยู่ให้ถูกที่”
เราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่เขาคิดจะเลือกซื้อบ้าน ชีวิตช่วงไหนที่คนมองหาบ้านล่ะ เช่น เพิ่งแต่งงาน หรือเพิ่งมีลูก หรือเมื่อลูกค้าตกลงใจเลือกบ้านเราแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการมอบประสบการณ์และบริการที่ดี เริ่มตั้งแต่การติดต่อธนาคาร ส่งสินเชื่อกู้ กระทั่งถึงการส่งมอบบ้าน พฤกษาเรามีทีมตรวจสอบคุณภาพบ้านก่อนส่งมอบ มีการวัดระดับความพึงพอใจ นี่คือประสบการณ์ร่วมที่ลูกบ้านทุกคนของเราจะได้รับค่ะ
ปัจจุบันนี้ พฤกษา เรียลเอสเตท แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็นกี่ประเภท
ถ้าเราใช้ลักษณะหรือรูปแบบของการอยู่อาศัยมาจัดกลุ่ม ปัจจุบันเรามีทาวน์เฮ้าส์ 4 แบรนด์ ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย มีโครงการบ้านเดี่ยว 3 แบรนด์คือ The Plant, Passorn และ The Palm ส่วนคอนโดเรามีหลายแบรนด์มาก ตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับ Value ไปจนถึงระดับ Premium
เล่าถึงตัวอย่างการริเริ่มโปรเจ็กท์ที่น่าสนใจของปีนี้
ปีนี้เรามีโครงการ Pruksa Living Tech ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแกนนวัตกรรมที่เรากล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ค่ะ โปรเจ็กท์นี้คือการคัดสรรเทคโนโลยีที่เราเชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการเชิงลึกของลูกบ้านได้มาพัฒนาต่อยอด ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลักคือ Green, Health, Safety, และ Smart และภายใต้หัวข้อเหล่านี้ก็จะมี insight ที่แตกต่างกัน นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมารองรับวิถีการอยู่อาศัยของลูกบ้านพฤกษาค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น O2 Lounge ที่อยู่ภายใต้หัวข้อ Health บริการนี้เราพัฒนาขึ้นจากวิกฤติมลพิษ เรื่องฝุ่นและคุณภาพอากาศ ในบางโครงการเราจึงจัดให้มีออกซิเจนเล้าจน์ (O2 Lounge) เป็นห้องที่ปล่อยออกซิเจนคุณภาพสูงสุดออกมาให้ลูกบ้านได้มานั่งพักปอดพักสมองกันได้ เพราะจากงานวิจัยเราพบว่าสมองของมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นมากหากได้รับออกซิเจนในระดับที่เหมาะสม นี่คือหนึ่งใน Living Tech ที่เรานำ insight และประเด็นในสังคมมาออกแบบเป็นบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ลูกบ้าน
หรือถ้ามองในมุมของความปลอดภัย (Safety) ทุกวันนี้ครอบครัวที่ซื้อบ้านเดี่ยวจะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยมาก จากแต่ก่อนที่เคยมีประตูแค่สองชั้น (Double gate) วันนี้เราทำประตูสามชั้นให้ลูกบ้านเลย (Triple gate) เชื่อไหมคะว่าการยกระดับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย มันสามารถจะเปลี่ยนความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยได้มาก
ส่วนในหัวข้อเรื่อง Green ทุกวันนี้เราได้เพิ่มการใช้เทคโนโลยีโซล่าร์เซลล์ไว้ในส่วนกลาง และดีไซน์ระบบหมุนเวียนถ่ายเทอากาศในทาวน์เฮ้าส์ให้ดีขึ้น สุดท้ายในส่วนของ Smart Tech เราได้เพิ่มระบบ Home Automation ไว้ในบางโครงการแล้ว บางโครงการมีกระทั่งกระจกอัจฉริยะที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเสิร์ชเน็ต-เล่นโซเชียลบนกระจกในห้องน้ำได้เลย ซึ่งทั้งนี้เราจะคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด มานำเสนอแก่กลุ่มลูกบ้านที่มีไลฟ์สไตล์และความต้องการแตกต่างกันไป
แนะนำวิธีเก็บข้อมูลวิถีชีวิตมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมให้สักเล็กน้อย
เราได้รับข้อมูลดิบมาจากเครื่องมือที่หลากหลายมากค่ะ ทั้งการทำ social listening การเข้าไปคุยกับลูกบ้าน การศึกษาเทรนด์ เพราะบางครั้งความต้องการบางอย่างของผู้คนยังไม่ถูกค้นพบเนื่องจากความไม่รู้ (unknown & unmet need) เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราสร้างขึ้นบางทีไม่ได้มาจากคำขอของผู้บริโภคตรงๆ แต่มันมีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่เรานำมาใช้ในการประมวลผลและสร้างบทสรุปร่วมกัน บางทีก็ต้องศึกษาตัวอย่างที่น่าสนใจจากต่างประเทศด้วย ฯลฯ ทีมการตลาดต้องเข้าถึงแหล่งข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้คนในบริบทที่ต่างกันไป
นอกเหนือจากเรื่องเทคโนโลยี เรื่องของการออกแบบบ้านมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกระตุ้นให้เรารับรู้ว่างานดีไซน์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดีเทลเพียงเล็กน้อยเช่นขั้นบันไดที่เตี้ยลง คนหนุ่มสาวอาจไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้วมันมีผลกระทบมหาศาล ในบางโครงการที่ลูกบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายายอยู่ด้วย เราก็จะลดความสูงของขั้นบันไดลง หรือปรับบางส่วนให้เป็นทางลาด และทำราวจับให้พอดี นอกจากนั้นเรายังดีไซน์ห้องส่วนตัวชั้นล่างเป็นห้องเอนกประสงค์เพิ่มเติมขึ้นมา ในกรณีที่ครอบครัวไหนมีสมาชิกสูงวัยก็สามารถปรับเป็นห้องนอนได้เลย นี่คือแนวคิดที่พฤกษาพยายามทำให้บ้านทั้งหลังเป็นพื้นที่ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
การตลาดออนไลน์กับเรื่องแบรนด์ดิ้ง
สื่อออนไลน์มีข้อดีที่เป็นเรียลไทม์ เห็นผลชัดเจน ประมวลผลได้เร็ว สมัยก่อนกว่าเราจะรู้ถึงผลลัพธ์ของโจทย์บางอย่าง เราต้องรอกันเป็นเดือน แต่ทุกวันนี้เราแค่รับฟัง social listening ก็รู้ฟีดแบ็คได้ทันทีว่ามาร์เก็ตติ้งแคมเปญหนึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างไร คอมเมนท์ทั้งดีและไม่ดีจากโลกออนไลน์ช่วยให้แบรนด์จะปรับตัว และขับเคลื่อนการสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าสมัยก่อน
“ถ้าแบรนด์รู้ฟีดแบ็คช้า ความเสียหายก็อาจเพิ่มมาก แต่ถ้ารู้เร็ว ก็แก้ไขได้เร็ว มันเป็นเรื่องของใจเขาใจเราด้วย”
นอกจากนี้โลกออนไลน์ยังมีประโยชน์ในเรื่องการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เมื่อก่อนเราเข้าใจคนได้ในไม่กี่มิติ จากแค่ข้อมูลประชากรศาสตร์ ฯลฯ แต่วันนี้เรารู้จักลูกค้าคนหนึ่งในแทบทุกมิติชีวิต เช่นรู้ว่าคนๆ นี้มีแนวโน้มกำลังจะซื้อบ้าน เขามีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร ทำงานแถวไหน น่าจะซื้อบ้านแบบไหน การยิงโฆษณาต่างๆ ไปหาเขาก็จะแม่นยำมากขึ้น เพราะเราเข้าใจผู้บริโภคได้ดีขึ้นในทุกมุมค่ะ
ประสบการณ์แบบไหนที่พฤกษาต้องการมอบให้แก่ลูกบ้านทุกคน
เราจะมองลูกบ้านเป็นเสมือนคู่ชีวิต ร่วมกันทำให้ทุกเรื่องดีขึ้น ไม่ได้แบ่งว่าเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ทุกเรื่องสามารถขับเคลื่อนหรือสร้างความแตกต่างได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของเขา
“การสร้างประสบการณ์ที่ดีคือการ delight customer ทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้มากกว่าที่คิดไว้ ได้ประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจง เป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับเขาคนเดียว”
วลีที่ว่า “ใส่ใจ เพื่อทั้งชีวิต” นี้จะต้องอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของเราเลย ไม่ใช่แค่แคมเปญการตลาด เราพยายามสร้างจุดยืนนี้ให้อยู่ในใจพนักงานทุกคน เรื่องเล็กน้อยของลูกค้าจะไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับเรา ดังนั้น Story doing เป็นสิ่งที่ฝ่ายการตลาดทำเองคนเดียวไม่ได้นะคะ ทั้งองค์กรต้องช่วยกัน คือถ้าเราไม่ได้ ‘เอาใจไปใส่’ มันก็สร้างเรื่องเหนือความคาดหมายขึ้นไม่ได้หรอก ตั้งแต่พนักงานขาย ฝ่ายก่อสร้าง คนดูแลระบบบริการ ฯลฯ เราต้องพร้อมช่วยเหลือลูกบ้านในทุกขั้นตอน เพราะความสำเร็จสูงสุดของพฤกษาคือการทำให้คำว่า ‘ความใส่ใจ’ นี้ไม่ใช่แค่แท็กไลน์ทางการตลาดเท่านั้น แต่เป็นระเบียบวาระขององค์กรทั้งองค์กรเลย
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
The post อังคณา ลิขิตจรรยากุล เล่าถึงปรัชญา “ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต” ตั้งเป้าดันแบรนด์พฤกษาเป็นที่รักของลูกบ้านทุกโครงการ appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพ็อดคาสท์ Mission to the Moon กับภารกิจการส่งต่อแรงบันดาลใจที่เขาว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของมนุษย์
หลายคนอาจรู้จัก แท็บ – รวิศ หาญอุตสาหะ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทศรีจันทร์สหโอสถ ผู้พลิกชีวิตแบรนด์ SRICHAND เครื่องสำอางเพื่อผิวคนไทยให้กลับมาครองใจสาวๆ เอเชียได้อีกครั้ง แต่วันนี้สมาคมการตลาดขอคุยกับรวิศในอีกบทบาทหนึ่ง นั่นคือการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ของเขา ที่สามารถย่อยเรื่องราวสารพัดให้ฟังเข้าใจง่ายและสนุกไปเสียหมด
แท็บ – รวิศ ในวันนี้เป็นเจ้าของ podcast และ facebook page ในชื่อเดียวกันคือ Mission to the Moon ซึ่งเรามองว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ช่วยเติมความรู้ด้านการทำธุรกิจ การตลาด และข้อคิดหลากหลายในการใช้ชีวิต ที่ส่งผ่านแรงบันดาลใจให้คนไทยก้าวเดินตามความฝันของตัวเอง
จุดเริ่มต้นในการทำพ็อดคาสท์ Mission to the Moon
“ผมทำ podcast นี้มาได้เกินขวบปีแล้วครับ ก็มีหัวข้อพูดคุยกับผู้ฟังทุกวัน (รวม 448 ตอน ณ เดือนมิถุนายน 2562) จุดเริ่มต้นเกิดจากที่ผมพยายามหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อรองรับโลกธุรกิจที่กำลัง disrupt อย่างรวดเร็ว ช่วงแรกผมคิดว่าจะนำองค์ความรู้พวกนั้นมาเขียนเป็นบทความ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะสิ่งที่อยากเขียนมีเยอะมาก และมันต้องใช้แรงขับเคลื่อนมากกว่าการพูด สุดท้ายผมจึงเลือกช่องทางการถ่ายทอดผ่าน podcast แทน ซึ่งเมื่อการแชร์ความรู้นี้มาอยู่ในฟอร์แมทของการพูด หัวข้อในแต่ละตอนจึงต้องไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ฟังสามารถติดตามได้ง่าย สอดคล้องกับบริบทของการฟัง podcast ที่คนส่วนใหญ่จะฟังในขณะขับรถ หรือขณะนั่งทำงาน มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเปิดแบบตั้งใจมากๆ เช่นถ้าเป็นข้อมูลเรื่องตัวเลข ผมก็จะนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบว่าตัวนี้น้อยกว่าหรือมากกว่าแค่นั้น เพื่อให้ผู้ฟังติดตามได้ง่ายที่สุด”
ทิศทางการนำเสนอคอนเทนท์ของ Mission to the Moon เป็นยังไง
“Mission to the Moon ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้อ่านและผู้ฟัง podcast ครับ คือผมรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของเราทุกคนล้วนต้องเจอทั้งอุปสรรคและความสำเร็จ ผ่านทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ซึ่งตัวผมเองที่ผ่านมาก็ได้รับแรงบันดาลใจและได้บทเรียนจากหลายๆ สิ่ง ไม่ว่าจะในเรื่องงานหรือเรื่องชีวิต
“ผมเชื่อว่ามนุษย์เราส่งต่อแรงบันดาลใจกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือบางทีก็ส่งต่อในรุ่นเดียวกันนี่แหละ สำหรับผมแล้วมันเป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของมนุษย์เลยนะ”
คุณเคยสังเกตไหมครับว่าในบางวันที่เราเศร้ามากๆ พอได้อ่านข้อความหนึ่งจากหนังสือ หรือจากเฟสบุ๊ค แล้วคุณกลับรู้สึกดีขึ้นมาได้ ไอ้ ‘ข้อความ’ นั่นแหละคือสิ่งที่ส่งต่อแรงบันดาลใจจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งแล้ว หรือในบางครั้งเราก็สามารถใช้ประสบการณ์ของเราให้คำแนะนำกับผู้ฟังที่ส่งคำถามมา ซึ่งหัวใจของ Mission to the Moon ก็คือตรงนี้ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเล่าเรื่อง และหวังว่าสิ่งที่เราเล่าจะส่งแรงบันดาลใจไปถึงใครสักคนที่ฟังอยู่
ทำไมคุณถึงชอบเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้คนฟัง
“จริงๆ ผมเป็นคนพูดเยอะมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ (หัวเราะร่วน) จะว่าไปจุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่ผมเริ่มเขียนหนังสือก่อน ซึ่งมันก็ต้องใช้กระบวนการคิดเพื่อหาวิธีถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวเราให้คนอื่นเข้าใจ การเล่าเรื่องสำหรับผมไม่ง่ายเลยนะ ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนพอสมควร ก่อนที่เราจะเขียนให้คนอ่านหรือจะพูดให้คนฟังได้ดี”
โครงสร้างในพ็อดคาสท์แต่ละตอนเกิดขึ้นได้อย่างไร
“อืมม…ผมเป็นคนที่สมัครรับข่าวสารจากหลายๆ แห่งครับ เรียกได้ว่าแทบทุกสำนักข่าว ทุกแหล่งข้อมูลธุรกิจ ฯลฯ คือผมมีข้อมูลในหัวเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้นำเรื่องสดใหม่ ณ วันนั้นมาเล่าหรอก เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของสำนักข่าวเขาอยู่แล้ว แต่ผมจะเอาเรื่องที่ยังไม่เก่าและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังมานำเสนอ เช่น ทำไมเครื่องบิน Boeing 737 Max รุ่นใหม่ล่าสุดถึงโดนระงับการใช้งาน หรือทำไม Jay-Z ถึงเป็นนักร้องคนแรกที่ทำเงินเกินพันล้านเหรียญได้ ฯลฯ นอกจากนี้ผมก็มีหัวข้อที่หนักๆ ในเชิงธุรกิจบ้าง รวมถึงการรีวิวหนังสือที่ผมอ่าน ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม ที่ผ่านมาพ็อดคาสท์ที่ยาวที่สุดของผมจะเป็นการตอบคำถาม ซึ่งมักจะทำในวันอาทิตย์ ผมตั้งใจให้เวลาตรงนี้มากหน่อย เพราะบางคำถามมันเป็นประโยชน์กับคนฟังได้อีกหลายคนเลย”
คุณคิดเห็นอย่างไรกับหนังสือ How to ที่มักจะเป็น Best Seller ตามร้านหนังสือ
“ผมคิดว่าเหตุผลแรกคือเพราะมันย่อยง่าย สองคือพอเราอ่านหนังสือ How to จบเรามักจะอยากเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง มันแตกต่างจากหนังสือกลุ่มที่อ่านแล้วได้ความรู้ แต่คุณจะลุกขึ้นมาทำอะไรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง แต่หนังสือ How to ก็มีข้อเสียเหมือนกันนะ เพราะบริบทของเนื้อหาจากแต่ละวัฒนธรรม เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่ง ไทย มันไม่ได้เหมือนกัน บางทีการนำ How to ของวัฒนธรรมอื่นมาใช้ทั้งหมดก็อาจทำให้เละได้ หลักสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้เขียน แล้วค่อยนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องตามบริบทชีวิตหรือธุรกิจของเรา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังสือประเภท How to นี้จะคุณจะเจอคำว่า “รวย” กับ “ผอม” เยอะมาก มันแสดงให้เห็นว่านี่คือค่านิยมที่คนทั่วไปอยากรวยกับอยากผอมหุ่นดี (หัวเราะ)
“อย่าลืมนะครับว่าผู้เขียนเขาแค่ทำหน้าที่แบ่งปันสิ่งที่เขาได้สัมผัส ฉะนั้นเวลาเราอ่านก็อย่าเคลิ้มตามหมด ให้รู้จักถกเถียงกับหนังสือด้วย เพื่อค้นหาเหตุและผล รวมไปถึงหลักคิดในบริบทที่แตกต่างกัน ก่อนนำมาปรับใช้กับชีวิตเรา”
คุณคิดว่า SMEs ไทยติดบ่วงในเรื่องไหนบ้าง
“เรื่องคน เรื่องระบบ และเรื่องเงิน คือสามสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เจอปัญหาครับ โดยเฉพาะคนกับระบบนี่เรื่องใหญ่ เพราะเงินสมัยนี้ยังพอหาทางเข้าถึงได้ ส่วนตัวผมมองว่า ‘คน’ เป็นปัญหาที่ยากที่สุด และความยากของคนไม่ใช่ใครอื่นนะ คือตัวเราเองนี่แหละ เพราะเรามักมีความเชื่อบางอย่างที่ผิดๆ แต่เราคิดว่าถูก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีอาชีพ ‘โค้ช’ เกิดขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำ
“ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเรื่องคนจะเป็นเรื่องที่เราได้ใช้เวลากับมันมากขึ้นในอนาคต เพราะงานอื่นๆ สามารถถูกแทนที่ด้วย AI หมด”
ดังนั้นนอกเหนือจากศาสตร์เรื่อง AI ผมคิดว่าศาสตร์ที่จะมีความสำคัญอย่างมากในวันหน้าคือเรื่องจิตวิทยา และมนุษยวิทยา เพราะถ้าเราเข้าใจโครงสร้างความคิดของคนนะ เราจะรู้หมดเลยว่าตอนนี้เขาคิดอะไรอยู่ เรื่องนี้ไม่ง่ายครับ เพราะขนาดแฟนที่อยู่กันมาสิบกว่าปีเรายังไม่รู้ความคิดเขาทั้งหมดเลย นับประสาอะไรกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าที่เรารู้จักเพียงแค่ผิวเผิน”
คุณมองเรื่อง Customer Journey ของลูกค้ากับธุรกิจทุกวันนี้อย่างไร
“ประการแรกคือเราไม่สามารถสรุปแนวคิดการทำงานใดๆ จากแค่ในห้องประชุมครับ ห้ามเด็ดขาด เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารนี่แหละที่ควรจะลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชีวิตของผู้คนจริงๆ เราต้องไปคุย ไปสัมภาษณ์ ไปสังเกตพฤติกรรมของเขาให้มากที่สุด อย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่เราตั้งสมมติฐานไว้ในห้องประชุมนั้นอาจจะผิดหมดเลยก็ได้ หรือคำตอบที่ผู้บริโภคตอบมาในแบบสอบถามก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ แต่ถ้าเราออกไปสังเกตพฤติกรรม การจับจ่าย การใช้ชีวิต ฯลฯ ของผู้บริโภคด้วยตาตัวเอง นั่นแหละเราถึงจะได้รับคำตอบที่น่าจะเป็นจริงที่สุด
และอีกวิธีหนึ่งคือการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ วิธีนี้ก็เป็นประโยชน์มากในการทำธุรกิจ เพราะเราจะเห็นพลวัตของข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งก็คือพลวัตของคนที่นั่งอยู่หลังจอคอมหรือจอมือถือนั่นแหละ การวิเคราะห์ big data บนโลกดิจิทัลจะทำให้เราเห็นเลยว่ามนุษย์สองคนที่อายุเท่ากัน ใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน ก็ยังมี customer journey ที่แตกต่างกันได้แบบคนละเรื่อง”
ตั้งแต่กลับมาทำงานที่ศรีจันทร์ มีงานไหนที่คุณคิดว่าคุณก้าวพลาดบ้างมั้ย
“ปี 2015 การรีแบรนด์ดิ้งศรีจันทร์ของเราประสบความสำเร็จมาก เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมีภาพลักษณ์ร่วมสมัยมากขึ้น สังเกตได้จากการที่ผู้บริโภคหรือคนทั่วไปกลับมาพูดถึงแบรนด์เราอย่างท่วมท้น ตอนนั้นผมมั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าจากนี้เราคงจะทำอะไรก็ได้แล้ว เริ่มอยากแหวกแนวเพราะความเชื่อมั่นที่มากเกิน ซึ่งนั่นเป็นชุดความคิดที่ผิดมากครับ หลังจากนั้นแค่สองปี (ปี 2017) ผลิตภัณฑ์ที่เราออกใหม่ถ้าไม่เสมอตัวก็ขาดทุน ถือเป็นปีที่แย่มากๆ
“ความผิดพลาดทั้งหมดเกิดจากอีโก้ของผมเอง มันทำให้ผมเรียนรู้ว่าความสำเร็จเพียงครั้งเดียวไม่ได้พิสูจน์ว่าเราจะทำอะไรก็ได้ในอนาคต”
สรุปว่าการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งคือหนทางเดียวในการพัฒนาธุรกิจที่ถูกต้อง หาใช่การคิดเอาเองของผู้บริหารที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน เหมือนกับที่ บิล เกตส์ เคยพูดไว้ว่า “ความสำเร็จเป็นครูที่แย่มาก” อันนี้เป็นเรื่องจริงครับ ช่วงปี 2017 เป็นปีที่ผมและทีมงานได้รับบทเรียนจากข้อผิดพลาด ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์มหาศาลในการก้าวเดินต่อไปของบริษัท ทำให้เราวางแผนการทำงานอย่างรอบครอบ จนในปี 2018 เราก็กลับมามียอดขายที่สูงขึ้น และในปีนี้ (2019) ก็เป็นปีที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่ขายต่ำกว่าเป้า ทั้งหมดเกิดจากการที่เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง”
ภูมิใจกับธุรกิจที่ทำในวันนี้แค่ไหน และมองอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
“ก็ภูมิใจระดับหนึ่งครับ เดี๋ยวนี้คนรู้จักแบรนด์ศรีจันทร์มากขึ้นเยอะ นอกจากนี้เรายังมีแบรนด์คอสเมติกส์ชื่อ ‘ศศิ’ (SASI) และอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยจะใส่คำว่า Bangkok คู่ไปกับแบรนด์ด้วยเพื่อสร้างความภูมิใจในเมืองที่เราถือกำเนิด ส่วนในอนาคตผมก็หวังว่าในวันหนึ่งเราจะมีที่ยืนในตลาดระดับภูมิภาคและในระดับโลก นั่นคือความฝัน ถึงแม้วันนี้ประเทศเราจะมีเรื่องแปลกเกิดขึ้นมากมาย แต่ผมก็ยังรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยและในเมืองกรุงเทพนะ ผมว่าเราเป็นเมืองที่เจ๋ง เลยอยากเล่าเรื่องราวของกรุงเทพผ่านผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาด้วย
ติดตามพ็อดคาสท์ Mission to the Moon ได้ทาง soundcloud:missiontothemoon
อ่านเรื่องราวการส่งต่อแรงบันดาลใจเกี่ยวกับธุรกิจ เทคโนโลยี และข้อคิดในการใช้ชีวิตได้ที่ missiontothemoon.co และทางเฟสบุ๊ค facebook:marketingeverythingbook
ภาพประกอบ: Srichand
The post รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพ็อดคาสท์ Mission to the Moon กับภารกิจการส่งต่อแรงบันดาลใจที่เขาว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของมนุษย์ appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
Personal Branding in Social Media: ในวันที่ภาพลักษณ์ผู้บริหารบนโลกโซเชียลสำคัญกว่าที่คิด
คุณเชื่อหรือไม่ว่าองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งที่จะทำให้แบรนด์เข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภคได้ ก็คือภาพลักษณ์ของ ‘เจ้าของ’ หรือ ‘ผู้บริหารองค์กร’ นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งสมาร์ทโฟนที่เราทุกคนสามารถเข้าถึง ‘ตัวตนบนโลกออนไลน์’ ของผู้บริหารเหล่านี้ได้เพียงปลายนิ้วคลิก ชุติมา ดำสุวรรณ นักวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร (Communication Strategist) ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ และเจ้าของเพจ Communicate Different ผู้คร่ำหวอดในวงการพีอาร์มาเกือบ 20 ปีย้ำกับเราในวันนี้ว่า “การสื่อสารการตลาดให้องค์กรด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ใหม่นั่นก็คือการสื่อสารแบรนด์ผ่านอัตลักษณ์ของผู้บริหารในโลกโซเชียล เพราะนี่คือช่องทางหลักที่ผู้บริโภคจะเชื่อมโยงกับแบรนด์ทั้งในวันนี้และอนาคต”
ไลฟ์สไตล์และแพชชันของผู้บริหารสร้างสรรค์ภาพลักษณ์องค์กรได้
ในมุมมองของชุติมา ทุกวันนี้การสื่อสารอัตลักษณ์ของผู้บริหารบนสื่อโซเชียลนั้น ต้องมุ่งเน้นที่การบอกเล่าถึงตัวตน ความสนใจ ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนมุมมองของผู้บริหารท่านนั้นต่อประเด็นต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนในสังคม หรือพูดง่ายๆ อีกนัยหนึ่งก็คือ ‘ไม่ได้มาขายของ’ นั่นเอง
การทำ Personal Branding ให้กับผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของสินค้า คือการนำเสนอตัวตนของเขาด้วยคอนเทนท์ในมุมของไลฟ์สไตล์และแพชชั่น ซึ่งมีกระบวนการทำงานโดยการค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ เว็บไซต์ เพื่อสำรวจว่าคนในสังคมพูดถึงผู้บริหารท่านนั้นอย่างไร รวมทั้งติดตามข่าวที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผล จนเราได้ชุดข้อมูลใหม่จากโลกภายนอก ที่ไม่ใช่ข้อมูลแบบที่องค์กรต้องการนำเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว
“ข้อมูลอีกด้านที่สังคมมีต่อผู้บริหารท่านนั้น คือหัวใจสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ว่าเราจะนำเสนอภาพลักษณ์แบบใดกลับคืนออกไปสู่สังคม”
โดยปกติการสื่อสารแบรนด์ก็จะนำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือสินค้าถูกมั้ยคะ แต่สำหรับการทำ Personal Branding นี้มันคือการสื่อสารบุคคล เนื้อหาที่นำเสนอจึงมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่
1) ความสนใจของบุคคลท่านนั้น เช่น เป็นคนรักสัตว์ ชอบถ่ายภาพ รักการวิ่งออกกำลัง ฯลฯ
2) ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ความสามารถพิเศษด้านอาชีพการงาน
3) การแสดงความเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ เมื่อจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้บริหารท่านนั้นเป็นผู้หญิง หากมีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นแม่เกิดขึ้นในกระแสสังคม หรือในโอกาสของวันสตรีสากล ผู้บริหารหญิงของเราก็ควรออกมาแสดงจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้ในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเธอด้วย เป็นต้น
ยุคเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน สารเปลี่ยน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียคือปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘วิธีการ’ และ ‘กระบวนการ’ สื่อสารระหว่างผู้บริหารกับผู้บริโภคในโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของความรวดเร็ว ความน่าติดตามของเนื้อหา และการเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ของผู้บริโภค ทั้งหมดนี้ทำให้การวางกลยุทธ์เรื่อง Personal Branding กลายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญกว่าที่เราคาดคิด
งานสื่อสารเป็นงานที่ต้องวางแผนและกำหนดกลยุทธฺ์เป็นขั้นตอนนะคะ ในอดีตการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและผู้บริโภคจะกระทำผ่านสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวหรือการให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันเราสามารถโพสต์ข้อความพวกนั้นลงโซเชียลมีเดียได้ทันที ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นดาบสองคม เนื่องจากข้อความสามารถแพร่กระจายไปได้เร็วมาก บางทีก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อภาพลักษณ์ขององค์กรมากเช่นกัน
ชุติมายกตัวอย่างว่าในบางกรณีที่ผู้บริหารอาจจะพูดถึงเรื่องบางเรื่องในสื่อโซเชียลแบบร้อนแรงไปนิด แม้ต่อมาท่านจะลบโพสต์นั้นออกไป แต่ก็มักจะมีคนเก็บไว้ได้ทันและเผยแพร่ต่ออย่างรวดเร็ว บางทีคำพูดเพียงประโยคเดียวก็สามารถสร้างประเด็นอ่อนไหวได้อย่างมาก ผู้บริหารจึงต้องระมัดระวังอย่างมากก่อนจะโพสต์อะไรก็ตามลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัว
ทางที่ดีแล้วท่านควรต้องมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบเลยล่ะ เพราะหากมีการวางกลยุทธ์ที่ดีก็จะทำให้สามารถคาดการณ์ปัญหาหรือการแสดงความเห็นที่อาจเกิดขึ้นได้ ช่วยให้ท่านเตรียมตัวได้เร็วในกรณีที่ต้องตอบคำถามสังคม คล้ายๆ กับการเตรียมคำตอบให้สื่อมวลชนในงานแถลงข่าว
“การทำงานร่วมกับนักวางกลยุทธ์ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้การสื่อสารคอนเทนท์ในโลกโซเชียลของผู้บริหารคนหนึ่งน่าติดตาม และมีเสน่ห์กว่าของคนอื่นได้”
ภาพลักษณ์ที่ดีของผู้บริหาร = ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่านอกจากผู้บริหารจะมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารขับเคลื่อนองค์กรแล้ว ‘ตัวตน’ ของเขาหรือเธอก็ยังมีส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย คอนเทนท์ส่วนตัวที่ผู้บริหารนำเสนอในโลกโซเชียลนี้อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจเลยก็ได้ แต่เมื่อใดที่ภาพลักษณ์ของผู้บริหารดูดี มันย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย
อีกทั้งนอกจากเรื่องงานแล้ว คนเรายังมีมุมอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมายที่น่าสนใจ เช่นบางท่านชอบศึกษาธรรมะ บางท่านรักสัตว์ บางท่านชอบถ่ายรูป ฯลฯ คอนเทนท์ที่เรานำเสนอจะสะท้อนตัวตนของผู้บริหารได้ในหลายมุม ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องธุรกิจ และคุณเชื่อไหมคะว่าคนในโลกโซเชียลสนใจ และติดตามคอนเทนท์ในลักษณะนี้มากกว่าด้วย
“น้อยมากที่ภาพลักษณ์ของผู้บริหารไม่ดี แล้วภาพลักษณ์ขององค์กรจะดีได้”
ชุติมาอธิบายต่อว่าสำหรับผู้บริหารที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของสาธารณะชน ก็สามารถเริ่มต้นทำ Personal Branding ได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากโจทย์ง่ายๆ ว่า “คุณอยากนำเสนอตัวตนของคุณอย่างไร…ผ่านเฟซบุ๊กของคุณ”
แต่หากต้องการสร้างคอนเทนท์ให้มีความต่อเนื่องแบบมืออาชีพ อันนี้ก็ต้องอาศัยมืออาชีพเข้าช่วย ยกตัวอย่างเช่น หากท่านเป็นคนชอบถ่ายรูป ที่บ้านมีกล้องถ่ายรูปหลากหลายแบบ นักวางแผนกลยุทธ์อาจหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอผ่านมุมมองของคนนอก ทำให้ตัวท่านดูมีความน่าสนใจ โดยที่ท่านเองอาจไม่รู้ตัวเลยว่าไลฟ์สไตล์บางอย่างของท่านนั่นแหละ คือวัตถุดิบชั้นดีต่อการสร้างสรรค์คอนเทนท์
โดดเด่น + เป็นตัวเอง + มีคุณค่าต่อผู้อื่น = หัวใจของ Personal Branding
ท่ามกลางมหาสมุทรของข้อมูลในโลกโซเชียล คำถามสำคัญที่ชุติมาหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ให้เราฟังคือ “คุณจะทำอย่างไรให้ผู้คน หยุด – อ่าน – ชม คอนเทนท์ที่คุณนำเสนอพร้อมกับกดไลค์และแชร์ต่อ”
ซึ่งหลักสำคัญนั้นมีง่ายๆ เพียงสามข้อคือ
1) คุณต้องแตกต่างและโดดเด่น ไม่อย่างนั้นคนจะไม่ตามอ่านเรื่องของคุณ ดังนั้นทีมวางกลยุทธ์ต้องระลึกไว้เสมอว่าคอนเทนท์ใดที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บริหารโดดเด่นขึ้นมาได้
2) ต้องเป็นตัวของตัวเอง การวางภาพลักษณ์นี้ไม่ใช่การสร้างมนุษย์คนใหม่ขึ้นมา แต่ต้องเป็นตัวตนจริงของคนๆ นั้น ดังนั้นในทุกๆ โพสต์ต้องให้ความรู้สึกเสมือนว่าเจ้าของเพจเป็นผู้โพสต์เอง ไม่ใช่ admin มาโพสต์ให้ แม้กระทั่งคำลงท้ายต่างๆ อย่างเช่น “คะ” “ค่ะ” หรือการใช้สรรพนามก็ต้องเป็นสำนวนของเจ้าของเพจทั้งหมด นักวางแผนกลยุทธ์อาจเป็นผู้เขียนเนื้อหาให้ แต่เจ้าของเพจจะต้องเป็นผู้ตรวจทานและแก้ไขเสมอ
3) ต้องมีประโยชน์ต่อผู้อื่น คอนเทนท์ที่มีคุณค่าต่อสังคมจะได้รับการไลค์และแชร์มากที่สุด โดยเฉพาะคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับการให้กำลังใจ รองลงมาคือการคาดการณ์ต่างๆ จากความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมถึงการให้แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต
“การสื่อสารผ่านอวจนภาษา เช่นการแสดงสีหน้า ท่าทางขณะพูดคุย การเลือกเครื่องแต่งกาย ทุกอย่างที่ปรากฏในภาพหรือวิดีโอที่เป็นคอนเทนท์ของเราล้วนมีผลต่อภาพลักษณ์ของเราทั้งสิ้น”
ชุติมาทิ้งท้ายไว้ว่าสำหรับโซเชียลมีเดียของผู้บริหารความถี่ในการโพสต์ที่เหมาะสมคือราว 15-16 ครั้งต่อเดือน หรือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบและช่องทางที่ผู้บริหารจะเลือกใช้ในการสื่อสารด้วย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม Youtube หรือ Podcast และคอนเทนท์ที่ดีคือคอนเทนท์ที่ทำงานด้วยตัวเองได้ สามารถเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ได้แบบออร์แกนิก ซึ่งหากคอนเทนท์ไหนยังทำงานได้ดีอยู่ เราก็ไม่ควรโพสต์เรื่องใหม่ทับลงไป ควรปล่อยให้มันได้ทำงานอย่างเต็มที่ก่อน
ประวัติโดยย่อ
อ้วน – ชุติมา ดำสุวรรณ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์การทำงานกว่า 20 ปีทั้งในด้านชุมชนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรในหลากหลายธุรกิจ ก่อนจะตัดสินใจก้าวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ชุติมาทำงานด้านการสื่อสารแบรนด์ให้กับ Jim Thompson อยู่ถึง 14 ปี ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของเพจ Communicate Different และเป็นนักวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารให้กับผู้บริหารระดับสูง ทั้งในองค์กรธุรกิจและพรรคการเมือง
The post Personal Branding in Social Media: ในวันที่ภาพลักษณ์ผู้บริหารบนโลกโซเชียลสำคัญกว่าที่คิด appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
Priceza E-Commerce Summit 2020 สุดยอดงานอีคอมเมิร์ซ รวบรวมผู้บริหารและกูรูชั้นนำระดับประเทศ!
กลับมาอีกครั้ง Priceza E-Commerce Summit 2020 สุดยอดงานอัพเดทเทรนด์อีคอมเมิร์ซให้ทันโลกสำหรับผู้ประกอบการ อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ พ่วงด้วยวิทยากรจากองค์กรชั้นนำพร้อมเสิร์ฟความรู้ให้คุณในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นี้
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า จากผลตอบรับที่ดีทะลุเป้าของงานในปีที่ผ่านมา ต่อยอดความสำเร็จให้เกิดงาน Priceza E-commerce Summit 2020 ขึ้นอีกครั้ง โดยในปีนี้ทาง Priceza จะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของเทรนด์ E-Commerce ในปีหน้า ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคจากข้อมูล Visitor กว่า 14 ล้านคนต่อเดือนที่เข้ามาใช้บริการในแพลตฟอร์มของ Priceza ซึ่งจะทำให้เห็นเทรนด์ที่สำคัญของผู้บริโภค อาทิ ประเภทสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ทิศทางมูลค่าสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุด เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดขาย และกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด พร้อมข้อมูลเตรียมความพร้อมกับอีคอมเมิร์ซในปี 2020 ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้อัพเดทข้อมูลเชิงลึกก่อนใคร
“จุดมุ่งหมายที่สำคัญของงาน คือยกระดับวงการธุรกิจ E-Commerce ไทยให้เติบโตในระดับอาเซียนผ่านการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในองค์กรชั้นนำ”
นายธนาวัฒน์ กล่าว
จับตาเทรนด์และกระแส E-Commerce ในปี 2020 ที่คุณต้องรู้
เทรนด์อีคอมเมิร์ซในปี 2020 นั้นจะเป็นการหลอมรวมการค้ายุคใหม่โดยเชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน และยังคงมองหาวิธีก้าวตามเทคโนโลยีให้ทัน เพื่อที่จะช่วยส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจ E-Commerce ในการบริหารและปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันสถานการณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆก่อนใคร โดยภายในงาน Priceza E-Commerce Summit 2020 ได้รวบรวมเหล่าวิทยากรมากประสบการณ์จากองค์กรชั้นนำทั่วประเทศไทย ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึก อาทิเช่น
- Thailand E-Commerce Trends 2020 | คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย
ในปี 2020 ผู้ประกอบการจะรู้ว่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซที่กำลังจะมาเป็นอย่างไรเพื่อที่จะได้รับมือ มองหาโอกาส และปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจของตัวเอง - Cross Border E-Commerce เจาะช่องลุยตลาดต่างประเทศปี 2020 | คุณจารุสตรี สุวรรณวงศ์ (Amazon) Head of Amazon Global Selling Thailand
แนะช่องทาง ชี้โอกาสโกอินเตอร์ เจาะตลาดต่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการไทย ไปที่ไหน และไปอย่างไร? - เทคนิคการขายบนมาร์เก็ตเพลสและโซเชียลมีเดีย ให้ยอดขายถล่มทลาย | คุณนัฐพล บุญภินนท์ Managing Partner N-Squared eCommerce
เรียนรู้การสร้างยอดขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และมาร์เก็ตเพลส ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้และเติบโตไปด้วยกัน - The New Retail กรณีศึกษาจริงจาก Officemate และ B2S | คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
กรณีศึกษาสุดล้ำของ OfficeMate และ B2S - การบริหาร OMNI-Channel ยอดขายพันล้านจาก TV Direct | คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)
ฟังจากตัวจริงในการทำ OMNI Channel หรือการค้าหลากหลายช่องทางผสานเป็นหนึ่งเดียว อย่าง TV Direct - ตีแผ่ Facebook Conversational Commerce สร้างยอดขายหลักล้าน | คุณเมธิศร์ มุกดาสิริ Client Partnership, Retail & E-commerce Face Facebook Thailand
ใช้ Social Media ระดับเทพทำการตลาดอย่างไรให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและสร้างยอดขายอย่างยั่งยืน
และประเด็น Hot Topic ในแวดวง E-Commerce อีกมากมายที่คุณต้องรู้ในปีหน้า
รวมสุดยอดกูรู E-Commerce จากบริษัทชั้นนำ
เท่านี้ยังไม่พอ!! นอกจากความรู้จะคับแน่นแล้ว วิทยากรภายในงานที่ร่วมตบเท้าเข้าเสวนาโปรไฟล์ก็แน่นไม่แพ้กันจากบริษัทชั้นนำ
- คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Priceza CEO & Co-founder นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย
- คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
- คุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย
- คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)
- คุณสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด
- คุณบูม หมู่ศิริเสิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ษริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด
- คุณดวงดาว มหะนาวานนท์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจช่องทางใหม่ Sabina Fareast Co., Ltd.
- คุณจารุสตรี สุวรรณวงศ์ Head of Amazon Global Selling Thailand
- คุณนัฐพล บุญภินนท์ Managing Partner N-Squared eCommerce
- คุณเมธิศร์ มุกดาสิริ Client Partnership, Retail & E-commerce Face Facebook Thailand
- คุณสิรีธร พรหมมาวิน Senior Search Quality Analyst Google Thailand
- คุณประพนธ์ศักดิ์ กัมพลพันธ์ Head of eCommerce : L’Oreal CPD Thailand
ย้อนดูไฮไลท์งาน Priceza E-commerce Trends ปี 2019
สำรองที่นั่งเข้างานราคาพิเศษจำนวนจำกัดได้แล้ววันนี้
จากการเปิดให้สำรองที่นั่งรอบ VIP ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม จนทำให้ตั๋ว Super Early Bird จำหน่ายหมดภายใน 2 วัน นอกจากนี้ผู้ร่วมงานจะได้รับข้อมูลสาระสำคัญและเป็นประโยชน์อีกมากมายมาอัพเดทเพื่อใช้เป็นไอเดียในการสร้างโอกาสทางธุรกิจก่อนใครได้ที่งาน Priceza E-Commerce Summit 2020 ณ โรงแรม S31 สุขุมวิท
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00น. – 17.00น.
- ติดต่อบัตร Corporate Ticket และ Partnership ได้ที่ E-mail mkt@priceza.com
- ติดต่อร่วมเป็นพันธมิตรและสนับสนุนงานได้ที่ mkt@priceza.com
ซื้อบัตรเข้างานราคาพิเศษด่วนจำนวนจำกัด ได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Priceza-E-Commerce-Summit-2020
หมายเหตุ : หัวข้อสัมมนาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
พิเศษ สำหรับสมาชิกของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
รับโค้ด >>> PZ200C
เพื่อรับส่วนลดในการซื้อบั ตรเข้างาน Priceza E-commerce Summit 2020
The post Priceza E-Commerce Summit 2020 สุดยอดงานอีคอมเมิร์ซ รวบรวมผู้บริหารและกูรูชั้นนำระดับประเทศ! appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
glove clinic คลินิกสุขภาพเพื่อ LGBTQ ลบภาพสำส่อนสู่เฮลตี้ไลฟ์สไตล์
ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เรามักจะได้เห็นภาพพาเหรดคอลเล็กชั่นสินค้า LGBTQ จากแบรนด์ดังระดับโลกวางขายถล่มทลายทั้งในตลาดออนไลน์และออฟไลน์เพื่อร่วมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ Pride Month) อาทิคอลเลคชั่น BETRUE ของ Nike ที่นำธงแปดสี (Pride Flag) มาเป็นกิมมิกในการออกแบบ ในขณะที่แก้วสีรุ้งของ Starbucks โดดเด่นด้วยตัวอักษรคำว่า ‘LOVE’ มีวางจำหน่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หรือกระทั่งแบรนด์ขวัญใจครอบครัวอย่าง Disney ก็มี Rainbow Disney Collection ที่มาพร้อมกับตุ๊กตา Mickey Mouse สีรุ้ง เสื้อยืด เสื้อกล้าม กระเป๋าสะพาย หมวก เข็มกลัด ที่คาดผม ฯลฯ โดยจะวางขายเฉพาะที่ร้านค้าของ Disney เองเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีงานบริการด้านการท่องเที่ยวอีกหลายแบรนด์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมาย LGBTQ โดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน (ตัวเลขประมาณการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ 6.64 ล้านล้านบาท) และเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปถึงร้อยละ 40 โดยเมื่อเร็วๆ นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตอกย้ำจุดแข็งข้อนี้ด้วยการเป็นโต้โผจัดการประชุมใหญ่ภายใต้ชื่องาน LGBT + Travel Symposium ส่งสัญญาณให้ตลาด LGBTQ ทั่วโลกเบนเข็มทิศมาเที่ยวเมืองไทยกันมากขึ้นในอนาคต
กลุ่ม LGBTQ ได้กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยซึ่งถือว่ามีข้อได้เปรียบเชิงวัฒนธรรมเป็นทุนอยู่แล้ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับเพศทางเลือกอย่างมาก (Gay-friendly) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อจำกัดทางศาสนา
เห็นช่องว่าง สร้างโอกาส
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็งของไทยแล้ว งานบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare and Wellness) ก็เป็นอีกธุรกิจที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง (เมืองไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลิสต์ต้นๆ ของ Medical Tourist Destination มายาวนาน) ในประเด็นนี้ นพ. เกริก อัศวเมธา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อพูดคุยกับเราว่า “มันคือโอกาสทางการตลาดที่ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQ ในประเทศและกลุ่มนักท่องเที่ยวยังขาดพื้นที่ตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบครบวงจร”
“มันเป็นปัญหาใต้สะดือที่พูดยาก คนไข้มักเขินอายและกลัวจะโดนตำหนิ หมอเห็นบางครั้งพยาบาลส่งผู้ป่วยไปคลินิกรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแม้ว่านั่นจะรักษาอาการเฉพาะของโรคได้ แต่มันก็ไม่ครบวงจร เพราะคนไข้อาจติดเชื้ออื่นมาจากการมีเพศสัมพันธ์อีกก็ได้ มันทำให้เขาหมดโอกาสที่จะดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ”
ด้วยแนวคิดนี้ นพ.เกริก จึงตัดสินใจจับมือกับหุ้นส่วนที่คิดตรงกันอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นพ.ศุภวัฒน์ วีรภัทรรุ่งโรจน์ เพื่อนหมอที่สนิทกัน รวมถึง ชาญวิทย์ ปาคำ และ วาสนา เสถียรธรรมวิทย์ สองที่ปรึกษาด้านโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน เปิดตัว “glove clinic” เป็นคอมมูนิตี้ด้านสุขภาพสำหรับชาว LGBTQ ที่มีบุคลิกกลางๆ ให้บริการตั้งแต่การป้องกันโรค (ด้วยการฉีดวัคซีน) ไปจนถึงการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ (รวมถึง HIV) พร้อมเน้นจุดขายด้านการให้คำปรึกษาการดูแลไลฟ์สไตล์ทางเพศ การวางแผนครอบครัว ฯลฯ
“บทบาทหลักของ Glove Clinic คือการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เราตั้งใจทำอะไรที่มากกว่านั้น เราอยากสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นคอมมูนิตี้ของความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ผู้เข้ารับการบริการรู้สึกสะดวกใจที่จะพูดคุยรวมถึงกล้าที่จะเดินเข้ามาตรวจเช็คในวันที่เขาไม่มั่นใจว่าตนเสี่ยงติดโรคอะไรมาหรือไม่” นพ.ศุภวัฒน์ บอกกับเราถึงความมุ่งหวังที่จะทำลายค่านิยมผิดๆ ว่าโรคทางเพศเป็นเรื่องของคนส่ำส่อนเท่านั้น
“สำหรับพวกเราทุกคนที่นี่ คนที่ sexually active ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย การที่เขามาตรวจโรคก็เป็นไปเพื่อสุขภาวะที่ดี เป็นเรื่องของการมีเฮลตี้ไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง”
ปั้นโมเดลธุรกิจให้ตอบรับความต้องการส่วนลึก
แม้ว่า glove clinic จะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฏาคม 2562 แต่ทีมงานที่ร่วมก่อตั้งล้วนมีประสบการณ์ในวงการมาร่วม 20 – 30 ปี พวกเขารู้ว่ากลยุทธ์สำคัญที่จะนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จต้องประกอบไปด้วยหลักการ 5G อันได้แก่ 1) Good Team – ทีมเวิร์คที่ดี 2) Good Service – บริการที่เป็นมิตร 3) Good Attitude ทัศนคติที่เปิดกว้าง 4) Good Location & Environment – สถานที่ตั้งที่เข้าถึงง่าย มีบรรยากาศอบอุ่น และ 5) Good Networking – มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคลากรในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
“การมีเน็ตเวิร์คที่ดีมีส่วนช่วยให้ผู้เข้ารับการบริการรู้สึกสบายใจ ทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับองค์กรด้วย เช่น ถ้าผลเลือดของคนไข้เป็นอะไรที่มากกว่าขอบเขตการรักษาของคลินิก เราก็จะคอนเน็คคนไข้ไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือไปที่โรงพยาบาลที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของคนไข้ และมีศักยภาพที่ดีพอในการรักษาโรคเหล่านั้น”
ชาญวิทย์และวาสนา สองที่ปรึกษาที่เรียกได้ว่าคร่ำหวอดและอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มามากมายหลายแห่งบอกกับเราว่า “คลินิกแต่ละแห่งล้วนมีกลุ่มเป้าหมายที่ไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน ใครที่เป็นเกย์จ๋าๆ หรือสายดาร์ก ก็จะไปตรวจที่คลินิกแห่งหนึ่งย่านถนนสีลม ในขณะที่ glove clinic เราจับกลุ่มเกย์ที่ไม่เปิดตัวมาก อาจยังเขินอายและต้องการพื้นที่ที่ทำให้เขาสบายใจที่จะเดินเข้ามารับการตรวจ”
ทั้งสองย้ำว่าการออกแบบบริการและการใช้จิตวิทยาเชิงพื้นที่จะมีความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายมาก “สำหรับ glove clinic จะแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในออกเป็นหลายฟังก์ชั่น เช่นมีพื้นที่นั่งพักผ่อนสบายๆ คลายกังวลก่อนพบแพทย์ มีพื้นที่นั่งคอยที่หลบเร้นเป็นส่วนตัวสูงสุด รวมไปถึงการออกแบบบริการ (service design) ที่ตั้งใจให้ผู้รับบริการได้อยู่ในห้องเพียงห้องเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเจ้าหน้าที่ รวมถึงแพทย์และที่ปรึกษา จะเป็นผู้เข้ามาให้บริการอย่างเป็นส่วนตัวภายในห้องตรวจ ตั้งแต่การเจาะเลือด การพูดคุย การฟังผล ฯลฯ เป็นงานบริการแบบครบวงจรที่จบในห้องเดียว”
“ทำเลย่านราชเทวีมีภาพลักษณ์ที่เป็นกลางๆ ไม่ดูเกย์จ๋าและไม่บ้านนอกเกินไปสำหรับชาวเกย์ ทั้งยังอยู่ใกล้ BTS มาก ช่วยให้ผู้เข้ารับบริการเกิดความสบายใจที่จะเดินทางมาตรวจ ซึ่งเราเปิดรับดูแลคนไข้ทุกเพศ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น LGBTQ เท่านั้น”
ในเรื่องของการสร้างรายได้ ทีมงานคุณภาพกลุ่มนี้มองว่า Glove Clinic จะสร้างรายได้จาก 3 ช่องทางคือ 1) Test – การตรวจเชื้อ 2) Treat – การรักษาด้วยยา และ 3) Prevention – การป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักจะมาจากการ Treat และ Prevention เป็นส่วนใหญ่ แต่ทีมงานมุ่งหวังว่าในอนาคตคลินิกจะมีรายได้จากการ Test มากขึ้น “เพราะเราอยากสร้างค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องในสังคม คือให้คนที่มี Sexually Active Lifestyle รู้จักประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง เช่นเข้ามาตรวจเช็คร่างกายกันทุกๆ 3 เดือน รวมถึงเราจะมีการให้คำปรึกษาระยะยาว (Consultation) สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นจุดแข็งสำคัญของ Glove Clinic ที่ถึงแม้จะไม่ได้สร้างรายได้โดยตรง แต่จะส่งผลให้ผู้รับบริการกลับมาหาเราอีกในวันข้างหน้า”
ยอดไลค์น้อย แต่หลังบ้านเพียบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อออนไลน์เช่น “เพจเฟสบุ๊ค” คือช่องทางการพูดคุยกับกลุ่มเสี่ยงที่เวิร์คที่สุด โดยเฉพาะในช่วงการเริ่มต้นบทสนทนาก่อนตัดสินใจเข้ารับการตรวจรักษา ชาญวิทย์เล่าว่า “ทุกคนที่มีข้อสงสัยมักจะสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก่อนว่ามีคลินิกใดให้บริการบ้าง หลายคนเข้ามาอ่านเพจเราจริงจัง แต่เขาจะไม่กดไลค์หรือคอมเมนท์เลย เพราะเขาไม่อยากเปิดเผยตัวตน แต่หลังบ้านนี่ส่งข้อความกันวุ่นเลยนะ เพราะเขาสบายใจที่จะคุยกับเราเป็นการส่วนตัวมากกว่า บางรายคุยกันอยู่เป็นปีกว่าจะยอมเข้ามารักษา”
“แอนมินเพจมีบทบาทสำคัญมาก เราต้องมีทั้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมาคอยตอบพื่อให้คนถามรู้สึกสบายใจ และเกิดความเชื่อมั่นมากที่สุด ส่วนเรื่องที่โพสต์บนไทม์ไลน์เราก็ไม่ควรเน้นแต่เรื่องโรคติดต่อทางเพศ แต่ควรนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ LGBTQ ทั้งหมด เป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ สร้างรอยยิ้มให้คนอ่าน ไม่ใช่เปิดเข้ามาเจอแต่เรื่องโรคติดต่อเครียดๆ เหล่านี้ล่ะคืออินไซต์ที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา” วาสนากล่าวเสริม
“ความไว้เนื้อเชื่อใจสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศ ถ้าเราซื้อใจคนกลุ่มแรกได้แล้ว การบอกต่อจะเกิดขึ้นเอง และนั่นคือเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญที่สุด”
อ้างอิง : voice tv, nike, marketingoops, shopDisney
The post glove clinic คลินิกสุขภาพเพื่อ LGBTQ ลบภาพสำส่อนสู่เฮลตี้ไลฟ์สไตล์ appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
SINGLE IS A NEW BLACK โสดพร้อมเปย์ ตลาดใหม่ที่คุณต้องตามจีบ
ต้องโสดเลเวลไหนถึงสามารถกินบุฟเฟต์ จิ้มชาบู ดูหนังโรง เที่ยวอะโลน แถมตบท้ายด้วยบิงซูชามใหญ่เพียงคนเดียวอย่างมีความสุข
คนโสด — สเตตัสที่จะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม วันนี้เขาและเธอได้กลายเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อ ‘สูงมาก’ สังเกตจากการที่ธุรกิจในหลายภาคส่วนเริ่มปรับจูนความคิดใหม่เพื่อกวาดเม็ดเงินออกจากกระเป๋าชาวโสดเหล่านี้ โดยเฉพาะกับคนโสด Gen Y ที่จำนวนมากเลือกใช้ชีวิตโสดเองด้วยความสมัครใจ เป็นโสดอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ก้มหน้ารับชะตากรรมไร้คู่เพื่อแลกกับอิสรภาพหรือความเป็นตัวเอง รวมไปถึงคนโสด Gen X โดยเฉพาะเพศหญิง ที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเริ่มหันมาปรนเปรอเติมสุขให้ตัวเองแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ตัวอย่างเช่น ป้าเอื้อย – สราลีศ์ ผลเกิด กับสโลแกนประจำตัว “ไม่มีแฟนก็แค่ลำพัง แต่ไม่มีตังค์ทนไม่ได้ค่ะ!” สาวโสดหกทศวรรษที่สูงวัยมาอย่างเปี่ยมคุณภาพท่านนี้ เธอเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว มีร้านค้าออนไลน์ และมีเคล็ดวิชาครองโสดอย่างสุขมาแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ด้วย นั่นคือ 1) เที่ยวเองไม่ง้อทัวร์ 2) สัตว์เลี้ยงดีต่อใจ 3) ฟิตเนสฟิตปั๋ง 4) ออมเงินเพื่ออนาคตหลังเกษียณ
โสดพร้อมเปย์ (หนัก)
รายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนสมรส และการจดทะเบียนหย่าจากกรมการปกครองพบว่า ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550 – 2560) การจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลง 5.1% สวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นถึง 19.7% ตัวเลขนี้สอดคล้องกับข้อมูลสถิติของ MeetNLunch เว็บไซต์หาคู่ระดับพรีเมี่ยมที่ระบุว่าตัวเลขคนโสดวัยทำงานในสังคมไทยมีจำนวนกว่า 40% หรือประมาณ 17 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมด ไม่ต่างกับตัวเลขคนโสดของชาวอาทิตย์อุทัยที่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีชายชาวญี่ปุ่นถึง 25% และหญิงชาวญี่ปุ่นถึง 15% ที่ไม่มีประวัติการแต่งงานก่อนอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขไม่เคยสูงขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติปี 2561 ระบุว่าคนโสด (ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีตามเกณฑ์อายุที่จดทะเบียนสมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย) มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวมากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 11% และเมื่อเปรียบเทียบรายจ่ายในด้านต่างๆ แล้วก็พบว่าคนโสดใช้จ่ายมากกว่าคนมีครอบครัวในหลายด้าน เช่น จ่ายค่าอาหารนอกบ้านสูงกว่า 12% จ่ายค่าน้ำมันสูงกว่า 4% จ่ายเพื่อความบันเทิงสูงกว่า 5% และจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าถึง 40% มีเพียงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเท่านั้นที่คนมีครอบครัวใช้สูงกว่าคนโสดราว 48% นอกจากนั้นเมื่อดูข้อมูลความสามารถทางเศรษฐกิจเรายังพบว่าทุกวันนี้สาวโสดพร้อมเปย์วัย 31-40 ปีส่วนใหญ่มีรายได้มากพอที่จะกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปได้โดยผ่อนชำระเงินกู้เฉลี่ยแค่ 20,000 บาทต่อเดือน
ปรับโมเดลธุรกิจรับเงินคนโสด
เมื่อน้องหมา น้องแมว น้องปลา น้องงู น้องกระต่าย ฯลฯ ถูกยกฐานะจากสัตว์เลี้ยงประจำบ้านให้กลายเป็นลูกรักมัดใจคนโสด เรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้าหน้าผม ที่หลับที่นอน ของบรรดาน้องๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นธุรกิจเซ็กเมนต์ใหม่ที่มีตัวเลขการเติบโตน่าสนใจอย่างยิ่ง
กรมปศุสัตว์ระบุว่าในปีพ.ศ. 2560 คนไทยมีสัตว์เลี้ยงมากถึง 13.2 ล้านตัว แบ่งเป็นน้องหมา 61% แมว 24% และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อีก 15% โดยมูลค่าตลาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงนั้นไต่ระดับขึ้นไปสูงถึง 32,230 ล้านบาท แบ่งเป็นอาหารสัตว์ 14,600 ล้านบาท สถานพยาบาล 10,200 ล้านบาท และสินค้าสำหรับสัตว์อีก 7,430 ล้านบาท โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของอาหารสัตว์นั้นมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 20-30% เหตุเพราะคนโสดสมัยนี้รักสัตว์เลี้ยงอย่างกับลูก อาหารธรรมดาๆ จึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป มันต้องอาหารชั้นดีระดับพรีเมี่ยมเท่านั้น! นอกจากนี้การเติบโตของโรงแรมสัตว์เลี้ยง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ที่คนสามารถเข้าไปเล่นกับน้องหมาน้องแมวได้ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น The Barkyard BKK คอมมูนิตี้สัตว์เลี้ยงในซอยสุขุมวิท 26 ที่ด้านในมีสนามหญ้า สระว่ายน้ำ และโรงแรมไว้บริการสัตว์เลี้ยงอย่างหรูหรา
มาดูเทรนด์ร้านอาหารกันบ้าง Ichiran Ramen คือหนึ่งโมเดลตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่น ร้านราเมงนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ที่เมืองฟุกุโอกะ รองรับลูกค้าที่เข้ามาทานราเมงแบบคนเดียวโดยมีฉากกั้นระหว่างที่นั่งเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ซึ่งสำหรับในประเทศไทยก็มีคนนำเข้าแนวคิดนี้เปิดเป็นร้านราเมงข้อสอบ หรือร้าน Eenmaal ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มจัดโต๊ะเก้าอี้สำหรับหนึ่งคนไว้ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีวิถีสันโดษโดยเฉพาะ นั่นคือชอบมาทานคนเดียวและอยากให้เวลากับตัวเองในร้านอาหารดีๆ
ซึ่งหากจะวิเคราะห์กันดีๆ แล้ว โมเดลธุรกิจสไตล์นี้ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้ที่ต้องการอยู่คนเดียว อย่างในประเทศไทยเราก็พบเห็นร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแห่งที่จัดพื้นที่สำหรับลูกค้านั่งทานคนเดียวบนเคาน์เตอร์บาร์ ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวโต๊ะนาน ยกตัวอย่างเช่นร้าน Hama Ichi ที่ขายอาหารปิ้งย่างแบบชายหาด หรือร้าน Sake no Mise ที่ขายเมนูสไตล์อิซากาย่า เป็นต้น
คนเดียวเที่ยวถึงใจ (กว่า)
ผลสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาของอโกด้า โดย YouGov พบว่าความนิยมของชาวเอเชียในการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวนั้นจะตกอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่เสียเป็นส่วนมาก นั่นคือ Gen Millennials 41% และ Gen Z 38% ในขณะที่ทางโลกตะวันตก เทรนด์นี้กลับร้อนแรงในกลุ่มคนอายุมากกว่า นั่นคือกลุ่ม Baby Boomer 39% และ Gen X 24% สิ่งที่น่าสนใจคือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้คนอยากเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวนั้น คือการพักผ่อนให้สบายใจ การได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากกิจวัตรเดิมๆ และการมีโอกาสไปสัมผัสกับวัฒนธรรมของผู้คนต่างถิ่น
จึงไม่น่าแปลกใจที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เริ่มปรับกระบวนยุทธ์มาจับกลุ่มเป้าหมายคนโสดเปย์หนักนี้แล้ว โดยนำเสนอการท่องเที่ยวเมืองรองแบบ Unseen เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตแท้ๆ และความท้องถิ่นนิยม เช่นเส้นทางท่องเที่ยว ‘ลำพูน…ไม่ลำพัง ทริปตัวคนเดียว 3 วัน 2 คืน’ พร้อมเส้นทางแนะนำสำหรับโซโลทราเวลเลอร์ที่มองหาความสงบ บรรยากาศอบอุ่นน่ารัก มีศิลปวัฒนธรรมล้านนาและของกินอร่อยๆ ให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมสักการะพระธาตุหริภุญชัย ทานมื้อเที่ยงที่ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย ชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่วัดจามเทวี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ฯลฯ ผนวกกับการที่แอพพลิเคชั่นการจองที่พัก จองพาหนะ การวางรูทเดินทาง ข้อมูลร้านกินดื่มและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยุคใหม่สามารถออกแบบการเดินทางด้วยตนเองได้อย่างสะดวกสบาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสไตล์โซโลทราเวลเลอร์นี้ มีแต่จะขยับสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี
พอเห็นเค้าลางๆ กันแล้วใช่ไหมว่าสเตตัส “โสด” ในยุคนี้ไม่ได้ผูกติดอยู่กับความเหงาเศร้าสร้อย หรือความกล้าๆ กลัวๆ ที่จะโบยบินอีกต่อไป คนโสดสมัยใหม่ได้ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ สามารถท่องโลกกว้างได้อย่างอิสระ เปย์เต็มเหนี่ยวได้ทั้งเรื่องกิน เที่ยว ความสุข และสุขภาพ ที่สำคัญพวกเขาและเธอกำลังกลายเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ที่ชวนฝันของนักการตลาด เพราะหากเอาอกเอาใจกันได้ถูกทางแล้วล่ะก็ รับประกันว่าเขาและเธอจะเทเม็ดเงินก้อนโตให้ธุรกิจของคุณได้แบบไม่ยั้ง!
อ้างอิง : Thaiquote, Facebook มนุษย์ต่างวัย, matichon, nippon, marketeeronline, sentangsedtee, brandinside.asia, eenmaal, the barkyard bkk, thai tourism thailand, ichiran
The post SINGLE IS A NEW BLACK โสดพร้อมเปย์ ตลาดใหม่ที่คุณต้องตามจีบ appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
ORACLE Modern CX Summit
ไม่ควรพลาด! Oracle ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงาน “Modern Customer Experience Summit”
เปิดให้ลงทะเบียนแล้ววันนี้ ดูรายละเอียดและสำรองที่นั่งก่อนใคร ที่ : http://bit.ly/2ph9qNN
ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่ The St.Regis Bangkok 8:30 – 16:00 น.
The post ORACLE Modern CX Summit appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
ขอความร่วมมือในสถานการณ์โควิด-19
09 เมษายน 2563
เรื่อง ขอความร่วมมือในสถานการณ์โควิด-19
เรียน ท่านผู้บริหารด้านการตลาด การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการสมาคมฯ และสมาชิกทุกท่าน
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกภายในระยะเวลาอันสั้น ทางภาครัฐจึงได้ขอความร่วมมือจากประชาชนคนไทย ในการลดการเคลื่อนที่ของประชากร ลดการสัมผัสโรคด้วยการอยู่บ้าน และลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโดยหลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือชุมชน รวมถึงมีการยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ กล่าวคือ การออกพระราชกำหนดการบริหารงานราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม ประกาศกรุงเทพมหานคร ตลอดจนประกาศล่าสุดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ซึ่งมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจนในการยกเลิกละเว้นกิจกรรมทุกประเภทที่จะก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก หรือยกเลิกการทำงานใดๆ ที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องมาอยู่ร่วมในสถานที่เดียวกัน
ด้วยความห่วงใย และเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทย สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ในภาคธุรกิจ ให้มีการจำกัดและควบคุมกิจกรรมการตลาดอย่างเคร่งครัด ให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับต่างๆ ของทางภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ที่มีการใช้บุคลากรจำนวนมากมาปฏิบัติงานร่วมกันทั้งในสถานที่และนอกสถานที่
สมาคมการตลาดฯมีความเชื่อมั่นว่าทุกองค์กรมีความตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันควบคุมการระบาดของโรค โดยการพิจารณายกเลิกหรือชะลอการทำงานผลิตถ่ายทำชิ้นงานโฆษณาหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงออกไปก่อน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด
สุดท้ายนี้ สมาคมการตลาดฯขอขอบคุณในความร่วมมือจากทุกองค์กรที่จะปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงหรือมีประกาศเพิ่มเติมใดๆ ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพมีพลานามัยที่แข็งแรงและหวังว่าเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว หากมีประเด็นหรือข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ สมาคมจะรีบแจ้งให้ทุกท่านทราบทันที
ขอแสดงความนับถือ
(อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์)
นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
The post ขอความร่วมมือในสถานการณ์โควิด-19 appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
ใช้’ใจ’ทำการตลาด ก็จะได้’ใจ’จากผู้บริโภค
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเกียรติให้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Dream Food of Thai Consumers ที่ได้จากการสอบถามผู้บริโภคทั่วประเทศรวม 1,000 คน ถึงคำจำกัดความและความคาดหวังใน Dream Food ผลบางตอนน่าสนใจ และตอกย้ำ The Rise of Lazy Economy ในหมู่ผู้บริโภคอายุน้อย
What is Thais’ Dream Food?
เมื่อพูดถึง Dream Food หรืออาหารในอุดมคติ ‘สิ่งที่เห็นได้’ ได้แก่วัตถุดิบ และกระบวนการปรุง นับเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โดย 5 ลักษณะแรกที่ผู้บริโภคนิยามคำว่า Dream Food คือ ต้องปรุงสดใหม่, ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ, สะอาด, ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล และ ใช้วัตถุดิบออร์แกนิค ซึ่งจากคำนิยามนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมผู้บริโภคถึงนึกถึง อาหารที่บ้าน หรือ อาหารที่แม่ทำ เป็นอันดับแรกของ Dream Food เพราะแม่มักทำอาหารสดใหม่ และใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ด้วยอายุ จะเห็นว่า
คนวัยกลางคนขึ้นไปมองหา คุณค่าทางโภชนาการและอาหารที่เป็นยา
มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน
โดยวัยรุ่นเชื่อว่า ราคาที่สมเหตุสมผล เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของอาหารใน
อุดมคติ
และวัยเริ่มทำงานให้ความสำคัญกับเรื่องความสะดวก หาซื้อได้ง่าย
ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเติบโตของ Food Delivery Service ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Early Jobbers
“จากข้อมูลของ GET ในปีที่ผ่านมา เคยมีออเดอร์สั่งชานมไข่มุกมากกว่า 3 แสนแก้ว ในหนึ่งเดือน และมียอดสั่งอาหารว่างตลอดทั้งวันและบางครั้งการสั่งซื้อก็อยู่ในระยะทางน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งแปลว่า คนสั่งจากร้านที่อยู่ใต้ตึกหรือตึกข้างๆ ให้มาส่งที่ทำงาน”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม KFC จึงติด 3 อันดับแรกของอาหารในอุดมคติของผู้บริโภคอายุน้อย เนื่องจากความสะดวกและราคาที่จ่ายได้นั่นเอง และชี้ให้เห็นว่า The Rise of Economy ยังคงเป็นหนึ่งเทรนด์หลัก ของ Gen รุ่นใหม่ ที่ผู้คนต่างอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน มีความคาดหวังเรื่องความสะดวกสบายและความรวดเร็วเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ถึงแม้ว่างานวิจัยครั้งนี้จะถามเกี่ยวกับอาหาร แต่สิ่งที่เราเรียนรู้และปรับนำไปใช้ได้กับการตลาดใน Industry อื่นๆ คือ
1. ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับ Visible Reason-To-Believe (RTB) มากกว่า Invisible End Result ใน Moment of Purchase ดังนั้นการให้ผู้บริโภครู้ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตจึงเป็นสิ่งที่นักการตลาดไม่สามารถละเลยได้ = Being Transparent
2. ธรรมชาติเป็นหนึ่งใน RTB ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ = Being Natural
3. ผู้บริโภคอายุน้อยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อยๆ = Being Convenient
4. การจะครองใจเป็น Trusted Brand ของผู้บริโภคได้ ต้องมีความสม่ำเสมอต่อเนื่องทั้งตัวสินค้า/บริการ เริ่มตั้งแต่ ความใส่ใจในการสรรหาวัตถุดิบหรือส่วนผสมของสินค้า ความตั้งใจผลิตและส่งมอบสินค้าที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจในประสบการณ์การใช้สินค้า/ บริการนั้นๆ ด้วย = Being Mindful (Human-Centric, Not Product)
The post ใช้’ใจ’ทำการตลาด ก็จะได้’ใจ’จากผู้บริโภค appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
MAT Vaccine For Business EP.1
เมื่อวันอังคาร ที่ 14 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา สมาคมการตลาดฯ เริ่มต้นตอนแรก ในชื่อตอน “การตลาด online เริ่มยังไงให้รอด” จะโฟกัสที่การขายของ ซื้อมา-ขายไป สำหรับผู้ไม่เคยมีหน้าร้าน และผู้ที่มีหน้าร้าน แต่ยังไม่เคยบุกโลกออนไลน์ เพื่อระบายสต็อค ได้รับเกียรติจาก กับ 3 วิทยากร
คุณธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและวางแผนกลยุทธ์การตลาด บริษัท สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 10 คนไทยที่ได้รับการคัดเลือกจาเฟซบุ๊กให้เป็น Alpha Tester หรือทดลองเครื่องมือการตลาดใหม่ๆบนเฟซบุ๊กรายแรก
คุณยุทธนา เทียนธรรมชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะเดย์ เฟรช จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลไม้ออนไลน์คนแรกของประเทศไทย
คุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางกลยุทธ์การตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด
สำหรับการเริ่มต้น
วิธีที่ง่าย และไม่มีต้นทุน คือ บัญชีส่วนบุคคล หรือการเข้าร่วม กลุ่ม ใน facebook
หากใช้ Instagram ให้เน้นการโพสต์ และการกดติดตาม แม้กระทั่ง Line กลุ่มเพื่อนที่เรามี เคยมีคนที่สร้างยอดขายจากกลุ่มเพื่อนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งช่องทางเหล่านี้เราสามารถเริ่มต้นได้เลยทันที
หากเป็น Market place อย่าง Shopee หรือ Lazada ก็สามารถสร้าง account ได้ฟรี
อย่าเพิ่งโฟกัสที่การทำโฆษณา แต่ให้ทำความคุ้นเคยกับการขายบนโลกออนไลน์ก่อน รู้จักการโพสต์ และการเขียนให้คนมีอารมณ์ร่วมที่จะซื้อ
ต่อมา คือ การทำความรู้จักสินค้าตัวเอง วัตถุดิบที่มี ว่าอะไรที่จะสามารถนำมาขายในช่องทางออนไลน์ หรือต้องมีการขนส่งได้ และเหมาะกับการขายในช่องทางไหน ยกตัวอย่าง บาบีคิวพลาซ่า (ร้านปิ้งย่าง) ที่ไลฟ์ขายซอส บนช่องทาง facebook เป็นต้น
ในสถานการณ์นี้ ทุกคนเปลี่ยนมาขายของออนไลน์ สิ่งสำคัญคือ ดึงจุดเด่นสินค้าเราออกมา เล่าเรื่องให้ชัด และน่าสนใจ
แต่ถ้าสินค้าเราไม่มีอะไรต่างเลย เราต้องสร้างความต่างเอง เช่น การตั้งราคา, ทำแพ็คเกจจิ้ง, ถ่ายภาพให้ดูดี ก็ช่วยดึงความสนใจจากลูกค้าได้ หรือแม้กระทั่ง การเลือกทำเล ว่าสินค้าของเราเหมาะจะขายที่ไหน Facebook Instagram หรือ Twitter
ด้วยหลักการของการตลาด สินค้าต้องถูกดึงจุดเด่นออกมา สร้างเรื่องราวที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้า โลโก้ หรือชื่อ ก็ยังเป็นเรื่องรอง จากเรื่องราวสินค้าที่เราต้องการสื่อสาร เมื่อมีเรื่องราวของสินค้า เมื่อนั้นเราจะรู้ว่าแบรนด์ของเราควรจะชื่ออะไร มันจึงสะท้อนหัวใจของแบรนด์
เมื่อพูดถึงว่าจะขาย ที่ไหนดี
ในแต่ละ แพลตฟอร์ม ก็มีจุดเด่น และพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าคุณมีเรื่องราว Facebook เป็นช่องทางที่เหมาะกับการเล่า เพราะผู้เล่น Facebook ยินดีที่จะกดอ่านจนจบ
โดย Instagram ให้ลักษณะของ photobook เน้นการถ่ายภาพ ซึ่งกล้องโทรศัพท์มือถือก็เพียงพอ ให้เน้นที่องค์ประกอบหลัก คือเรื่องแสง ก็สามารถถ่ายภาพให้สวยได้ เหมาะกับสินค้าแฟชั่น ของสวยงาม บิวตี้ คอสเมติก
Shopee หรือ Lazada เหมาะกับสินค้าที่เป็นแบรนด์ หรืออยู่ในกระแส เช่น หน้ากาก เจลล้างมือ แอลกอฮอล หรือแบรนด์อย่าง dettol เพราะคนจะทำการ search หาสิ่งเหล่านี้ใน Market place อยู่แล้ว ถ้าวางราคาดีๆคนก็จะเลือกซื้อของเรา ซึ่งทั้งสอง platform นี้ ก็มีเครื่องมือการตลาดตลาดเป็นของตัวเอง เช่นการ live หรือ การซื้อโฆษณาให้เป็นสินค้าแนะนำ เพื่อสนับสนุนผู้ขาย เช่นกัน
การขายซื้อค้า ซื้อมาขายไปหรือแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก หากเลือกขายใน Shopee Lazada ก็สะดวก เพราะคนจะค้นหาจากชื่อแบรนด์อยู่แล้ว จะชนะกันที่ราคา รีวิว และการดูแลลูกค้า
คุณจี๊ป สุรศักดิ์ ได้เล่าถึงเทรนด์เทรนด์สินค้าที่เกิดขึ้นกับวอลล์มาร์ท ห้างใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า สินค้ายอดนิยมในช่วงโควิด แบ่งออกเป็น 4เฟส เฟสแรก คือ สินค้าความสะอาด เฟสที่สอง คือ กระดาษชำระ เฟสที่สาม คืออาหาร
และในเฟสที่สี่ คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทรงผม แม้ในประเทศไทยเอง ก็จะเริ่มเห็นผู้ชายซื้อปัตตาเลี่ยน ผู้หญิงทำสีผม เนื่องจากอยู่บ้านกันเป็นเวลานาน
ซึ่งวันนี้ ถ้าเราจะมาขายหน้ากาก ก็คงไม่ทันแล้ว ถ้าเราไม่มีของจะขาย ให้ลองมองว่า สัปดาห์ถัดไปเราควรจะขายอะไรดี
การสร้างคอนเทนต์ ให้คุณเริ่มต้นด้วยทำไม? (Start with WHY)
ตอนนี้หมดยุคของการบอกว่าสินค้าเรามีดีอย่างไร แต่ต้องเน้นที่การเล่าเรื่องที่เป็น benefit สำหรับลูกค้า ว่าทำไมเขาถึงต้องเลือกเรา
ยกตัวอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ หากพูดถึงคุณสมบัติว่า เพจเราขายโต๊ะ เก้าอี้ ที่แข็งแรง ทนทาน ประกอบง่าย น้ำหนักเบา คือการเล่าด้วย What
หนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจาก Luxury Furniture ที่ไม่เคยขายได้บน facebook จากคุณแอม ยุทธนา ได้ดึงจุดเด่นออกมาของธุรกิจออกมาเป็นคอนเทนต์
“เรามีประสบการณ์กว่า 30 ปี สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะกับบ้านที่คุณมี เพียงแค่ส่งรูปบ้านของคุณมา เราสามารถสร้าง perfect match furniture อำนวยความสะดวก และดูแลคุณเอง” คือการที่บอกว่า WHY ทำไมคุณต้องเลือกเรา ซึ่งทำให้เกิดยอดขาย ขึ้นมาได้จริง
อีกตัวอย่าง จากสินค้าของคุณหนึ่ง ธัญญ์นิธิ คุณหนึ่งเล่าว่า “การขายของเด็กเล็กต้องเน้นที่why เราจะไม่เล่าเรื่องแค่ว่า อันนี้คือยางที่เอาไว้จับขวดนม แต่เราจะขายเรื่องราวการสร้างพัฒนาการ ที่เค้าได้ฝึกหยิบ ฝึกจับ และมีแรงในการถือของได้ง่ายขึ้น”
การสร้างคอนเทนต์เชิงให้ความรู้ จะทำให้คนที่เข้ามาดู เชื่อถือเรา ว่ารู้จริง จนเกิดการแชร์ต่อ ทำให้เราเป็นที่รู้จัก และเมื่อนำคอนเทนต์นั้นไปทำโฆษณา ก็จะช่วยให้โฆษณาได้ในราคาที่ถูกลง
ถ้าคุณทำคอนเทนต์ได้ดีจะมีผลไปถึงการทำโฆษณาด้วย เพราะเฟสบุ๊คจะมีการให้คะแนน ถ้าคะแนนดี ค่าโฆษณาก็จะถูกลง และการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่แคบลง หรืออ้างอิงจากลูกค้าจริง ให้ facebook ช่วยหาคนที่คล้ายกัน และสื่อสารได้ตรงกับคนที่ต้องการอยู่แล้ว จะช่วยให้เราเจาะตลาดแล้วขายได้ง่ายขึ้น
ของกินบนออนไลน์ขายอย่างไรดี?
ให้เริ่มตั้งโจทย์ว่าเล่าเรื่องรสชาติอย่างไร ง่ายสุดก็คือ รีวิวลูกค้าที่เคยซื้อแล้ว เราขอเค้าง่ายๆ อย่างจริงใจผ่านการเขียนโน๊ตไปกับของที่ส่งให้ลูกค้า ช่วยกลับมาให้ดาว หรือ รีวิวบนเพจ ทำให้การขายไม่ใช่เพียงส่งของแล้วจบไป แต่เกิดการบอกต่อ แล้วให้ผลกลับมาในระยะยาว
สำหรับช่วงเวลาที่จะทำการตลาดให้ได้ผล นั่นก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของสินค้า
คุณหนึ่งเสริมว่า ลองดูสินค้าของคุณ ถ้าเป็นสินค้าอาหาร คุณควรไลฟ์ก่อนเที่ยง ตอนเขา เริ่มหิว และสร้างความต่าง กรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ทำแล้วนั่งกินให้คนดู เพื่อกระตุ้นความอยาก หรือไลฟ์ตอนกลางคืน อาจจะมีคนหิวแล้วกดสั่งอาหารก็ได้
สำหรับใครที่กำลังจะเริ่มต้น ไม่ต้องกังวลกับยอดไลค์ หรือยอดดูไลฟ์ ในการเลือกช่วงเวลาที่จะไลฟ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้ยึดจากลูกค้าเป็นหลักว่า prime time ที่ลูกค้าของเราจะนั่งดูไลฟ์ที่ยาวกว่า 10 นาทีได้นั้น คือช่วงเวลาไหน หรือช่วงเวลาไหนที่การไลฟ์ จะช่วยกระตุ้นความต้องการของลูค้าได้ แล้วโปรโมท นัดหมายเวลากับคนดูด้วย
สิ่งที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น ทำแล้วอย่าหยุด หากยังไม่ประสบความสำเร็จ ให้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงยังไม่มียอดไลค์ ยอดดู แล้วค่อยๆปรับ แต่ต้องทำต่อไปเหมือนหนูถีบจักร
สิ่งสุดท้ายสำหรับการเริ่มต้นนี้ คือการเตรียมการทำงานหลังบ้าน และระบบขนส่ง
คุณแอมแชร์ประสบการณ์ การขายผลไม้ มีเรื่องสี ขนาด ที่ไม่สามารถควบคุม ของจริงให้กับภาพที่โฆษณาแต่สิ่งที่ทำได้คือการเลือกบริการขนส่งที่เหมาะสม และมีคุณภาพ
การขายอาหารเอง ก็มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการขนส่ง ที่เราไม่สามารถให้ลูกค้าไปเรียกร้องจากขนส่งได้
เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากเรา เราต้องรับผิดชอบ จริงใจกับลูกค้า
ท่านสามารถเข้าไปรับชม EP.1 ย้อนหลังได้ที่ Facebook fanpage : MAT Society
และขอฝากให้ทุกท่านติดตามรับชมสด EP.3 “คิด content ยังไง ให้โดนใจ และสร้างยอด?”
ในวันอังคารที่ 28 เมษายน เวลาเดิม 2 ทุ่มตรง
The post MAT Vaccine For Business EP.1 appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
ไพรซ์ซ่า (Priceza) สรุปภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2019 พร้อมชี้ทิศทางปี 2020 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ไพรซ์ซ่า (Priceza) เผยตัวเลขมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2019 มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 (COVID-19)ในประเทศไทย ผลักผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท โดยในปี 2020 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา ได้จัดงานแถลงข่าว “Priceza Virtual Conference สรุปภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ปี 2019 และทิศทางปี 2020 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ผ่านระบบ Online Conference รับกระแส Social Distancing ในประเทศไทย
ไพรซ์ซ่าชี้ข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของตลาดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดได้แก่ประเทศจีน 25 เปอร์เซ็นต์, ประเทศเกาหลีใต้ 22 เปอร์เซ็นต์ และประเทศอังกฤษ 22 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ หมายความว่า ถึงแม้คนไทยจะรู้สึกว่ากระแสการซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยม แต่หากดูจากสถิติประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ยังคงสามารถเติบโตได้อีกอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูล ETDA สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer to Consumer) ในปี 2019 มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าช่องทาง E-Marketplace เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้ในการซื้อของออนไลน์ในสัดส่วนมากขึ้น จากปี 2018 อยู่ที่ 35% เติบโตมาเป็นสัดส่วนมากถึง 47% ในปี 2019 นอกจากนี้สัดส่วนของช่องทาง Social Media และ E-tailer/Brand.com มีมูลค่าลดลงตามสัดส่วน
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2020 จากผลพวงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 (COVID-19) ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มสูงขึ้นกว่า 29 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2020 จากผลพวงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 (COVID-19) ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มสูงขึ้นกว่า 29 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย
ไพรซ์ซ่า เราเป็นผู้ให้บริการ Multi-Channel E-commerce Platform ช่วยให้ธุรกิจออนไลน์สามารถเพิ่มยอดขายออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด19 ได้มีบทบาทร่วมช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตราการปิดห้าง-ศูนย์การค้า อาทิ เครือเซ็นทรัล (Central Online, Tops, Powerbuy) แม็คโคร Makro, Index Living Mall, HomePro , Advice, นายอินทร์ (Naiin), Sound Proof Bro และ Nadz โดยไพรซ์ซ่าได้ช่วยดันยอดขายออนไลน์ให้เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนรายได้ออฟไลน์ที่หายไป
สินค้าของผู้ประกอบการนอกจากจะปรากฎบนเว็บไซต์ไพรซ์ซ่าแล้ว ยังได้รับการโปรโมทไปกับพันธมิตรของไพรซ์ซ่า ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์รีวิวสินค้า, Youtubers, Facebook Influencers ต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสขายสินค้าให้ได้มากขึ้น
“จากนี้ต่อไป การขายอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) จะไม่ใช่ทางเลือก
แต่เป็นทางรอดของธุรกิจค้าขายในยุคหลังโควิด-19” นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา กล่าว
The post ไพรซ์ซ่า (Priceza) สรุปภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2019 พร้อมชี้ทิศทางปี 2020 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.
New Normal Behavior but Same Old Needs
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำคัพท์ยอดฮิตในช่วง COVID-19 Crisis คือคำว่า ‘New Normal’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘ความปกติใหม่’ ซึ่งรวมทั้งความคิดและ การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน การทำธุรกิจ การใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร การช้อปปิ้ง การท่องเที่ยวและสันทนาการต่างๆ จนถึง วิธีการทำงานจากที่บ้าน – Work from Home (WFH) ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘New Normal’ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน
จากการสัมภาษณ์คนทำงานจำนวน 400 ตัวอย่างทาง Asia Mobile Panel ของกลุ่มบริษัทอินเทจ พบว่าคนทำงานรู้สึกปลอดภัยจากเชื้อไวรัส ทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น จากการ WFH แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความรู้สึกในเชิงลบ จากการขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ขาดชีวิตชีวาในการทำงาน รู้สึกเครียดและโดดเดี่ยว
โดยทั้ง Gen Y และ Gen X เห็นด้วยว่า การทำงานที่บ้านลด Waste Time ในการเดินทาง การประชุม การพบปะที่ไม่จำเป็น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น
ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่าง 2 Gen ชัดเจน คือเรื่องเวลาคุณภาพกับครอบครัว และการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งคำตอบเป็นผลมาจาก Values of Life Stage ที่แตกต่างกัน นั่นคือ ในขณะที่ คน Gen X ส่วนใหญ่ แต่งงานมีครอบครัวแล้ว และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการมีครอบครัวที่ต้องดูแล คน Gen Y ส่วนใหญ่ ยังไม่ได้แต่งงาน
Every Coin Has 2 Sides
ในขณะที่มีข้อดีมากมาย แต่คนทำงานกลับมีความเครียดเพิ่มขึ้นจากการ WFH โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถชดเชยด้วยการคุยกันผ่านมือถือ หรือการประชุมผ่าน Virtual Meeting
การได้พูดคุยแบบ Chit Chat กับเพื่อนร่วมงาน แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้การทำงานแต่ละวันของคนทำงานมีชีวิตชีวามากขึ้น การได้พบปะผู้คนเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วย ซึ่งทั้ง 2 Gen มีความคิดเห็นสอดคล้องกันในเรื่องนี้
นอกจากนี้ความไม่พร้อมในระบบ และเทคโนโลยี ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนรู้สึกเครียดกับการ WFH
จุดแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างคนทำงาน 2 Gen คือ เรื่องของ การมีห้อง, มุม หรือโต๊ะทำงานที่เป็นสัดส่วนที่บ้าน ซึ่งจะเป็นข้อกังวลใจสำหรับ Gen Y ที่ไม่ใช่แค่เพื่อการทำงานเท่านั้น แต่ต้องพร้อม ‘ออกสื่อ’ ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีการประชุมผ่าน Virtual Platform เช่น Zoom หรือ Microsoft Teamsที่ต้องเปิดให้เห็นหน้า เห็นสถานที่กัน
New Normal Practice but Same Human Needs
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากขึ้นเพียงใด หรือไม่ว่าจะอยู่ใน Generation ใด ความต้องการ ของคนยังประกอบไปด้วย 3 ด้านหลักๆ คือ 1. Functional Needs 2. Emotional Needs และ 3. Social Needs
Functional Needs: นับว่าเป็นพื้นฐานหลักที่ต้อง Fulfill ก่อน Needs ใดๆ เสมือนเป็นปัจจัย 4 พื้นฐาน ที่ทุกคนต้องมี ในกรณีของ WFH ก็หมายถึงระบบและกระบวนการที่เอื้อต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเป็นการตลาดก็หมายถึง Prerequisite Benefits ของสินค้าและบริการ
Emotional Needs: เป็นส่วนสำคัญที่สมองของคนจะจดจำ ดังนั้นไม่ว่าจะทำการตลาดใดๆ ถ้าเน้นแต่ จะขายแค่ Product Functional Benefits ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจ ของผู้บริโภคได้ โดยปราศจากประโยชน์ทางอารมณ์
Social Needs: เนื่องด้วยคนเป็นสัตว์สังคม การได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้รับการยอมรับ การชื่นชมจากผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่เติมเต็มความรู้สึก เรื่องความสำเร็จในชีวิต
การศึกษาในครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของ Social Needs เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าการ WFH จะมีข้อดีมากมายในแง่ Functional Needs แต่คนทำงานก็ยังโหยหาการได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศเพื่อที่จะได้มี Physical Relationship กับผู้อื่น ในทางการตลาดเราก็จะเห็นได้ชัดจากการเติบโตของการใช้ Influencer Marketing ที่นำ Social Needs ของผู้บริโภคที่ต้องการ Being Right + Being Liked มาเป็นแกน ในการโปรโมทสินค้าและบริการ
Source of Image:
The post New Normal Behavior but Same Old Needs appeared first on สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย.